‘พิพัฒน์’ แจงสาเหตุ หลังโดนจี้ถาม เลื่อนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท 1 ต.ค.
พิพัฒน์ ลุกขึ้นชี้แจงสาเหตุ หลังโดนจี้ถาม เลื่อนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท 1 ต.ค. เผยประชุมไตรภาคีล่ม รับถ้าทำสำเร็จอาจไม่ถึง 600 บาท
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ลุกขึ้นชี้แจง หลังจากที่ นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชช.) ตั้งคำถามเรื่องขึ้นค่าแรง 400 บาท ว่า ตนมีความตั้งใจปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทในวันที่ 1 ต.ค.67 แต่ตนเชื่อว่า ผู้ใช้แรงงานคงทราบดีว่าเจตนารมณ์ของรัฐบาลตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน ที่กำหนดไว้ในนนโยบายว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาทในปี 2570 ซึ่งตนยึดถือมาตลอด แม้จะเปลี่ยนนายกฯ เป็นน.ส.แพทองธาร ชินวัตร แม้จะไม่ได้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ในนโยบาย แต่ตนถือว่าสิ่งที่รับโจทย์มาจากรัฐบาลนายเศรษฐา
ตนมั่นใจและพร้อมเดินหน้าต่อไป และการประชุมไตรภาคีเพื่อพิจารณาเรื่องค่าจ้าง หากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 เราก็ไม่สามารถเปิดประชุมได้ ฉะนั้น วันที่ 16 ก.ย. ทุกคนก็ทราบว่าฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมทั้ง 5 คน และวันที่ 20 ก.ย. มีการประชุมอีกครั้ง หากผู้เข้าประชุมครบ 2 ใน 3 เราสามารถโหวตได้ทันที แต่ก็ไม่สามารถประชุมได้
ถือเป็นเรื่องที่นอกเหนือสิ่งที่ตนกำกับหรือบังคับได้ เพราะรมว.แรงงาน ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงและเข้าไปนั่งในห้องประชุมได้ และการที่ตนให้สัมภาษณ์ เป็นการให้นโยบาย ไม่ใช่การแทรกแซง
การที่มีผู้มาประชุมไม่ครบในวันที่ 20 ก.ย. หากจะพูดว่าเป็นเทคนิคก็ได้เพราะ หากมีการประชุม เชื่อว่าเราไม่สามารถที่จะหมดได้ แต่ถ้ามีการโหวตในวันนั้น ฝ่ายนายจ้างยืนยันคัดค้านทั้ง 5 คน ฝ่ายรัฐบาลถ้ามีครบ นอกเหนือจากตัวแทนธปท.ไม่เข้าประชุม
ขอถามสมาชิกว่าถ้ามีการประชุมในวันนั้น ผู้ที่จะเสียหายคือกลุ่มใด แน่นอนฝ่ายนายจ้างก็ไม่อยากขึ้นค่าแรง เพราะสภาวะเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้พวกเราทุกคนทราบ สิ่งที่เพิ่มต้นทุนให้กับฝ่ายนายจ้างคือดอกเบี้ยที่สูงเกินความจริงนอกเหนือจากอัตราเงินเฟ้อ
ตนคิดว่าในรัฐบาลมีหลายฝ่ายที่พยายามจะเจรจากับทางธปท.ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือฝ่ายนายจ้าง ซึ่งตลอดเวลา ธปท.อ้างว่า หนี้สินครัวเรือนเราสูงมาก ตนไม่เถียง แต่ถามว่าวันนี้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของภาครัฐ มีปล่อยกู้ให้ใครได้บ้าง เต็นท์รถมือสองทยอยปิดตัวเองตลอดเวลา และการยึดรถมีการยึดมาจนล้นลานจอดรถ
การที่เราปรับไซส์แรงงาน 200 คน แรงงานไทยได้ประโยชน์ประมาณ 1.7 ล้านคน แรงงานต่างด้าว 5.4 แสนคน ฝ่ายนายจ้างก็จะได้รับผลกระทบ ฝ่ายนายจ้างจะได้รับผลกระทบต่อคนประมาณ 72.78 บาท กระทบค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้ว หากถามว่าเราพักภาระตรงนี้ไปให้กับเอสเอ็มอีหรือไม่
ถ้าเอสเอ็มอีล้ม ความรับผิดชอบก็อยู่ที่กระทรวงแรงงาน เพราะประกาศแบบปูพรม แต่ถ้าเราประกาศ ไซส์ L ไปก่อน หลังจากนั้นมากู้เอสเอ็มอี เมื่อสถานะของเอสเอ็มอีเดินหน้าต่อไปได้แล้ว ไม่ได้หมายความว่าปีนี้เอสเอ็มอีจะไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยทางกระทรวงมีนโยบายว่าในช่วงสิ้นปีต่อเนื่องปี 2568 เราจะมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะเอสเอ็มอีอีกครั้งหนึ่ง ตามที่อนุไตรภาคีในแต่ละจังหวัดส่งข้อมูลมาให้กับทางกระทรวง
“ผมมีความมุ่งมั่นก้าวแรกให้จบไปให้ได้ก่อนคือ ค่าแรงขั้นต่ำของเดือน ต.ค.นี้ให้จบที่ 400 บาท เมื่อเราประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาทจบแล้ว ผมจะขอชี้แจงให้ทราบว่าเราจะมีไทม์ไลน์ที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนอกเหนือจากนี้อีกเมื่อไหร่ เพราะถ้าจะพูดว่ามีไทม์ไลน์ 1,2,3,4,5 แล้วผมไม่ดูถึงสถานะของผู้ประกอบการหรือสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ประกาศไปก็เป็นเพียงลมปาก แต่ถ้าจะทำให้สำเร็จจริงก็อาจไม่ถึง 600 บาทก็ได้ แต่ขอให้มีความก้าวหน้าในการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ชาวแรงงานต้องอยู่ให้ได้” นายพิพัฒน์ กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง