รายงานกสม. ฉบับเต็ม เรือนจำฯ กรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วย “ทักษิณ”
เปิดรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ฉบับเต็ม กรณีเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โรงพยาบาลตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วย ทักษิณ ชินวัตร
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง “การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น” กรณีผู้ร้อง (ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้องที่ 1 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ถูกร้องที่ 2
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้สรุปผลการตรวจสอบเมื่อ 20 ก.ค.2567 โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ความเป็นมา
ผู้ร้องร้องเรียนทางโทรศัพท์ตามคำร้องที่ 138/2566 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ช่วงกลางคืนต่อเนื่องวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ผู้ถูกร้องที่ 1 อนุญาตให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขัง เข้ารับการรักษาพยาบาลที่ผู้ถูกร้องที่ 2 และได้รับการรักษาที่ดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น กรณีดังกล่าวอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ
2. การตรวจสอบ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 และระเบียบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยพิจารณาจากการชี้แจงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังต่อไปนี้
2.1 รายการเอกสาร พยานหลักฐานจากการตรวจสอบ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
2.1.1 หนังสือทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่ ยธ 0724/4849 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1.2 หนังสือผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ ยธ 0768/9160 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1.3 หนังสือกรมราชทัณฑ์ ลับ ที่ ยธ 0705.4/42278 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1.4 หนังสือผู้ถูกร้องที่ 2 ลับ ด่วนที่สุด ที่ ตช 0036.161/34 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1.5 บันทึกสรุปการประชุมรับฟังข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1.6 บันทึกสรุปการประชุมกับผู้ถูกร้องที่ 1 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
2.1.7 บันทึกสรุปการประชุมรับฟังข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1.8 บันทึกสรุปข้อมูลจากเรือนจำจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ณ เรือนจำจังหวัดปทุมธานี
2.1.9 บันทึกสรุปข้อมูลจากเรือนจำพิเศษมีนบุรี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ณ เรือนจำพิเศษมีนบุรี
2.1.10 หนังสือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ลับ ที่ ดศ (สคส) 512/49 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1.11 บันทึกการให้ถ้อยคำของแพทย์สังกัดทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567
2.1.12 บันทึกการให้ถ้อยคำของพยาบาลสังกัดทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567
2.1.13 บันทึกการให้ถ้อยคำของพยาบาลวิชาชีพสังกัดผู้ถูกร้องที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567
2.1.14 บันทึกการให้ถ้อยคำของผู้แทนผู้ถูกร้องที่ 2 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567
2.1.15 หนังสือผู้ถูกร้องที่ 1 ลับ ด่วนที่สุด ที่ ยธ 0768/72 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1.16 บันทึกการให้ถ้อยคำของผู้แทนสถาบันโรคทรวงอกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงวันที่ 1 มีนาคม 2567
2.1.17 หนังสือกรมราชทัณฑ์ ลับ ที่ ยธ 0705.4/7215 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2567 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1.18 หนังสือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ ดศ (สคส) 512/441 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2567 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1.19 หนังสือผู้ถูกร้องที่ 2 ลับ ด่วนที่สุด ที่ ตช 0036.161/20 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1.20 หนังสือคณะอนุกรรมการตอบข้อหารือและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ลับ ที่ ดศ (สคส)512/378 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1.21 หนังสือกรมราชทัณฑ์ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ยธ 0705.4/69 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.2 ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบ
2.2.1 ข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง
รายละเอียดปรากฏตามความเป็นมาในข้อ 1
2.2.2 ข้อเท็จจริงจากผู้ถูกร้อง
1) ผู้ถูกร้องที่ 1 ชี้แจง ดังนี้
1.1) การรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกราย ผู้ถูกร้องที่ 1 ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง (Standard Operating Procedures for Custodial Measures: SOPs) และระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตรวจร่างกายผู้ต้องขังเข้าใหม่และผู้ต้องขัง เข้า-ออกเรือนจำ พ.ศ. 2561 ได้แก่ ตรวจสอบความถูกต้องของบุคคล จัดทำทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง พิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจค้นตัว คัดกรองโรค ตรวจสุขภาพ ซักประวัติการเจ็บป่วย จากนั้นจะแยกกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ไปที่แดนเฝ้าระวังโรคเป็นเวลา 5 วัน หากตรวจแล้วไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) จะจำแนกเข้าแดนต่อไป แต่หากพบว่าติดเชื้อจะต้องแยกกักตัวอีก 5 วัน
1.2) ผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ และได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำโดยมีหลักการว่าให้ส่งผู้ต้องขังไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐเป็นลำดับแรก เว้นแต่กรณีจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉิน สามารถส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุดได้ โดยเรือนจำจะรับตัวผู้ต้องขังที่ป่วยกลับมาเมื่อมีอาการดีขึ้นและแพทย์สั่งจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ส่วนห้องสำหรับพักรักษาตัว เสื้อผ้าที่สวมใส่ และระยะเวลาการรักษา เป็นไปตามที่โรงพยาบาลกำหนด เรือนจำมีหน้าที่จัดกำลังควบคุมผู้ต้องขังเพื่อป้องกันการหลบหนีในอัตราผู้ต้องขัง 1 คน ต่อเจ้าหน้าที่ 2 คน ทั้งนี้ ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563
1.3) ผู้ถูกร้องที่ 1 รับตัวนายทักษิณเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เวลาประมาณ 11.30 น. และเนื่องจากนายทักษิณเป็นผู้ต้องขังรายสำคัญ ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงมีหนังสือประสานขอแพทย์จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เข้ามาตรวจร่างกาย จากการตรวจพบว่า นายทักษิณมีโรคประจำตัวที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง พังผืดที่ปอด กระดูกสันหลังเสื่อม และโรคหัวใจ โดยแพทย์ให้ตรวจติดตามอาการทุก 3-4 ชั่วโมง และส่งใบคำแนะนำไปยังสถานพยาบาลของผู้ถูกร้องที่ 1
1.4) เวลาประมาณ 22.00 น. พยาบาลเวรรายงานว่า นายทักษิณมีค่าความดันโลหิตสูง มีอาการอ่อนเพลีย หายใจเหนื่อย แน่นหน้าอก ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ พัศดีเวรจึงให้พยาบาลเวรโทรศัพท์ประสานกับแพทย์เวรของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์ผู้ตรวจร่างกายขณะรับตัว โดยแพทย์เห็นว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวนายทักษิณไปยังผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งมีความพร้อมและมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่าทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ พัศดีเวรจึงได้อนุมัติให้ส่งตัวนายทักษิณไปรักษากับผู้ถูกร้องที่ 2 โดยแพทย์ของผู้ถูกร้องที่ 2 ได้รับตัวนายทักษิณไว้รักษาเมื่อเวลาประมาณ 00.20 น. ของวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่สามารถเปิดเผยเอกสารการตรวจร่างกายก่อนเข้าเรือนจำและผลการตรวจร่างกายของนายทักษิณได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ไม่อาจเปิดเผยได้ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 (5)
1.5) ผู้ถูกร้องที่ 1 มีสถิติการส่งตัวผู้ต้องขังไปรับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในปี 2563 รวม 201 ราย ปี 2565 รวม 9 ราย และปี 2566 รวม 238 ราย นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ถึงเดือนมกราคม 2567 ส่งตัวผู้ต้องขังไปเป็นผู้ป่วยในที่สถานพยาบาลอื่นอีก 28 ราย ได้แก่ สถาบันโรคทรวงอก 5 ราย โรงพยาบาลตำรวจ 16 ราย สถาบันประสาทวิทยา 2 ราย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 1 ราย โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 1 ราย โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 1 ราย โรงพยาบาลราชวิถี 1 ราย และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 1 ราย ทั้งนี้ ช่วงปี 2563-2565 เป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรค Covid-19
2) ผู้ถูกร้องที่ 2 ชี้แจงดังนี้
2.1) ผู้ถูกร้องที่ 2 มีหน้าที่รักษา กำหนดแนวทางการรักษา และรายงานอาการของผู้ป่วยตามความเป็นจริง ส่วนการรักษาความปลอดภัยและการเข้าเยี่ยมของญาติผู้ต้องขังเป็นหน้าที่และอำนาจของกรมราชทัณฑ์
2.2) ผู้ถูกร้องที่ 2 รับตัวผู้ป่วยจากกรมราชทัณฑ์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสถานีตำรวจต่าง ๆ มารักษาตัวหลายรายต่อปี การกำหนดห้องพักรักษาตัวขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายและความพร้อมของห้องเป็นสำคัญ อีกทั้งยังต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่ควบคุมตัวด้วย หากเห็นว่าไม่ถูกต้องเหมาะสม สามารถโต้แย้งได้ รวมถึงการให้ผู้ต้องขังรักษาต่อหรือย้ายออกก็เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องที่ 2 มีห้องสำหรับผู้ต้องขังโดยเฉพาะ 1 ห้อง 4 เตียง ซึ่งมีกรงเหล็กป้องกันการหลบหนี โดยส่วนใหญ่ผู้ต้องขังที่พักห้องดังกล่าวเป็นผู้ต้องขังที่มีแนวโน้มจะหลบหนี
2.3) โดยปกติหากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยสามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว ผู้ถูกร้องที่ 2 จะแจ้งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้ทราบก่อน แต่หากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังไม่พร้อมรับตัวผู้ป่วยรายนั้นกลับไปดูแลก็จะแจ้งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 รับตัวผู้ต้องขังไว้รักษาตัวไปก่อน เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ผ่าตัดและต้องให้เคมีบำบัดซึ่งต้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แต่การเดินทางจากผู้ถูกร้องที่ 2 ไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จะสะดวกกว่าจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ แพทย์จะให้พักรักษากับผู้ถูกร้องที่ 2 ต่อเนื่องจนกว่าอาการจะดีขึ้น
2.4) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ผู้ถูกร้องที่ 2 ปรับปรุงชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ซึ่งมีทั้งหมด 11 ห้อง และห้องพิเศษทุกห้องที่ยังใช้การได้เพื่อรองรับผู้ป่วยในภาวะกึ่งวิกฤติที่ต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีเครื่องมือครบ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยวิกฤติต้องให้อยู่ในห้องฉุกเฉินเท่านั้น ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมารับการรักษาที่ชั้น 14 เป็นระยะ แพทย์ให้กลับบ้านไปแล้วประมาณ 8-9 คน แต่ช่วงหลังเครื่องปรับอากาศบางห้องชำรุด จึงรับผู้ป่วยเฉพาะห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศได้ ประมาณ 5-6 ห้อง ซึ่งรวมถึงห้องของนายทักษิณที่พักรักษานานกว่าบุคคลอื่น
2.5) แพทย์ผู้รับตัวนายทักษิณชี้แจงว่า ช่วงกลางคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ขณะออกไปตรวจผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉินของผู้ถูกร้องที่ 2 โทรศัพท์มาแจ้งว่า เรือนจำส่งผู้ต้องขังมารับการรักษาด้วยอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ ปริมาณออกซิเจนต่ำ ตนจึงตอบรับให้ส่งตัวมาตรวจได้ และได้รับแจ้งทางโทรศัพท์อีกครั้งว่าขณะนี้ห้องคนไข้เต็มทุกอาคาร ตนจึงให้ส่งไปห้องใด ๆ ที่ยังว่าง เมื่อไปตรวจจึงทราบว่าคนไข้คือนายทักษิณ ซึ่งขณะนั้นสวมหน้ากากออกซิเจนและยังสื่อสารรู้เรื่องแต่ตอบสนองช้า ตนจึงรักษาเบื้องต้นและประเมินอาการเพื่อนำไปปรึกษาแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยห้องที่นายทักษิณรักษาตัวถือเป็นห้องพิเศษระดับปกติ ไม่ใช่ห้องใหญ่หรือมีอัตราค่าห้องที่แพงที่สุด ทั้งนี้ หากกรมราชทัณฑ์เห็นว่าห้องดังกล่าวไม่เหมาะสามารถแจ้งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ย้ายนายทักษิณไปพักรักษาที่ห้องอื่นได้
2.6) ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของนายทักษิณได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ต้องปกปิดเป็นความลับ ประกอบกับนายทักษิณได้แสดงเจตนาไว้ในหนังสือ ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ไม่ยินยอมให้สถานพยาบาลเปิดเผยข้อมูล/ส่งข้อมูล หรือสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของตน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อีกทั้งรายงานทางการแพทย์เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
2.7) สาเหตุที่นายทักษิณต้องพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคความเสื่อมของกระดูกต้นคอ กระดูกหลัง โรคปอดเรื้อรัง โดยมีหลักฐานทางการแพทย์ทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรคอื่นเพิ่มขึ้นด้วย และระหว่างพักรักษาตัว นายทักษิณมีภาวะวิกฤติเป็นระยะ เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งการจะให้ออกจากโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับกรมราชทัณฑ์ว่าสามารถดูแลรักษาต่อได้หรือไม่ เพราะผู้ถูกร้องที่ 2 มีหน้าที่เพียงให้ความเห็นทางการแพทย์ตามวิชาชีพและระบุอาการป่วยตามความเป็นจริงให้กรมราชทัณฑ์ทราบและพิจารณาเท่านั้น
2.8) ระหว่างเดือนมกราคม 2565 ถึงกุมภาพันธ์ 2567 มีผู้ต้องขังที่นอนพักรักษาตัวกับผู้ถูกร้องที่ 2 นานที่สุดเมื่อปี 2565 จำนวน 1 ราย เป็นผู้ต้องขังอายุ 66 ปี รักษาตัวเป็นเวลา 68 วัน ที่แผนกอายุรกรรม
2.2.3 ข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1) ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้แจง ดังนี้
1.1) ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถผ่าตัดผู้ป่วยได้ในกรณีไม่ซับซ้อนหรือไม่ฉุกเฉินร้ายแรง แต่โรคที่มีอาการรุนแรง เช่น เส้นเลือดสมองตีบฉับพลัน โรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน ซึ่งเกินขีดความสามารถในการรักษา แพทย์จะแนะนำให้ส่งต่อโรงพยาบาลอื่น
1.2) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้มีหนังสือขอให้มอบหมายแพทย์เข้าตรวจร่างกายในขั้นตอนการรับตัวนายทักษิณ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ซึ่งในวันดังกล่าว แพทย์และพยาบาลได้ซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยพิจารณาร่วมกับประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลของประเทศสิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากนั้นได้เขียนใบส่งตัวไว้เพื่อให้สามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกได้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติปกติสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่อาจเกินศักยภาพของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
1.3) เวลา 23.59 น. ของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 พัศดีเวรได้รายงานผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่า นายทักษิณมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอกความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วต่ำ พยาบาลเวรจึงโทรศัพท์ขอคำปรึกษาจากแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลฯ โดยแพทย์ได้สอบถามอาการอย่างละเอียดและพิจารณาจากประวัตินายทักษิณแล้วเห็นว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติทางหัวใจและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นและศักยภาพของโรงพยาบาลแล้ว จึงแนะนำให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น และแม้สถาบันโรคทรวงอกจะตั้งอยู่ใกล้ผู้ถูกร้องที่ 1 แต่จากอาการในภาพรวม ผู้ถูกร้องที่ 2 น่าจะมีความพร้อมมากกว่า เพราะมีแพทย์หลายสาขา รวมถึงมีบันทึกข้อตกลงกับกรมราชทัณฑ์
2) กรมราชทัณฑ์ ชี้แจง ดังนี้
2.1) การอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษานอกเรือนจำต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 7 โดยผู้ต้องขังที่รักษาตัวเกินระยะเวลา 120 วัน เรือนจำจะรายงานต่อกรมราชทัณฑ์เพียงครั้งเดียว และรายงานอีกครั้งเมื่อผู้ต้องขังกลับเข้าเรือนจำ
2.2) กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง และข้อ 4 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักการไว้ว่า “เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ … (2) ตรวจสอบสิทธิการรักษาของผู้ต้องขังให้เป็นไปตามที่ราชการจัดให้ และห้ามผู้ต้องขังเข้าพักในห้องพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ 3 จัดให้” และข้อ 5 กำหนดว่า “ผู้ต้องขังซึ่งได้รับอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำต้องปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ … (2) ใช้สิทธิของผู้ต้องขังตามที่ทางราชการจัดให้และห้ามเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกไปจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ 3 จัดให้…” ดังนั้นเมื่อนำตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลนอกเรือนจำ หากโรงพยาบาลนั้นจัดให้พักรักษาตัวในห้องที่มีการควบคุมพิเศษแตกต่างจากผู้ป่วยรายอื่น ย่อมอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่เป็นข้อยกเว้นให้สามารถกระทำได้ โดยไม่ได้กำหนดให้เรือนจำต้องรายงานให้กรมราชทัณฑ์ทราบ และมีเจ้าหน้าที่ของเรือนจำทำหน้าที่ควบคุม 2 คน ซึ่งจะต้องจัดทำรายงานเสนอทุกครั้ง ยกเว้นกรณีพิเศษ เช่น ผู้ต้องขังรายสำคัญหรือผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยรุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิต เจ้าหน้าที่อาจต้องรายงานเป็นระยะบ่อยขึ้น เนื่องจากการเสียชีวิตของผู้ต้องขังผูกพันกับผลการปฏิบัติงานของเรือนจำด้วย
2.3) แพทย์จะเป็นผู้กำหนดว่าควรส่งตัวผู้ต้องขังป่วยออกไปรักษาที่โรงพยาบาลใด ส่วนกรณีฉุกเฉิน เรือนจำสามารถส่งผู้ต้องขังไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ถึงแม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน แต่ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในสถานที่ที่โรงพยาบาลจัดให้ โดยไม่สามารถเลือกห้องพักเองได้ ทั้งนี้ ผู้ต้องขังที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนอกเรือนจำจะใช้สิทธิการรักษาของตนเอง และผู้ป่วยหรือญาติจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนเกิน
2.4) กรณีผู้ต้องขังเป็นผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ เมื่อการรักษาสิ้นสุดหรืออาการทุเลา แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาจำหน่ายผู้ต้องขังป่วยกลับเข้าเรือนจำหรือไปพักรักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
2.5) ตั้งแต่ปี 2563-2566 เรือนจำ/ทัณฑสถานส่งผู้ต้องขังออกไปรักษาภายนอกตลอดมา ทั้งนี้ มีผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วยในรักษาอยู่นานที่สุดเป็นระยะเวลา 50 วัน ด้วยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ รองลงมา 45 วัน ด้วยอาการผิดปกติที่พบจากการตรวจทางคลินิกและตรวจทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องขังป่วยจิตเวช 2 ราย ซึ่งรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน อยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลกและสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยเรือนจำได้รายงานขอความเห็นชอบจากกรมราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว และไม่ต้องรายงานการรักษาตัวต่อเนื่องมายังกรมราชทัณฑ์อีก
2.6) หลังจากที่นายทักษิณพักรักษาตัวกับผู้ถูกร้องที่ 2 ครบ 120 วัน ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รายงานขอความเห็นชอบจากกรมราชทัณฑ์แล้วโดยไม่ได้รายงานการรักษามายังกรมราชทัณฑ์อีก ฃจนได้รับการปล่อยตัวพักโทษไปเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567
3) สถาบันโรคทรวงอก ชี้แจง ดังนี้
สถาบันมีความเชี่ยวชาญเรื่องโรคหัวใจและปอด ซึ่งจะรับผู้ป่วยจากเรือนจำทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน นอกจากนี้ยังมีระบบให้คำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปอดสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนักมาก ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและมีโรคร่วมอื่น ที่สถาบันมีข้อจำกัด ที่ไม่อาจรับไว้รักษาได้ โดยผู้ป่วยในของสถาบันส่วนใหญ่จะมีภาวะฉุกเฉิน ดังนั้น แพทย์จะพิจารณาตามประเภทของโรคและอาการของผู้ป่วยว่าควรพักรักษาที่ห้องใด ผู้ป่วยที่จะพักห้องพิเศษได้ต้องพ้นภาวะวิกฤติและดูแลตัวเองได้หรือญาติดูแลได้ เมื่อพ้นภาวะฉุกเฉินแล้ว เรือนจำจะรับผู้ต้องขังกลับไปซึ่งเจ้าพนักงานเรือนจำที่ปฏิบัติหน้าที่เฝ้าผู้ต้องขังจะสื่อสารกับแพทย์และพยาบาลโดยตลอด จึงทราบอาการของผู้ต้องขังอยู่แล้ว ที่ผ่านมาผู้ต้องขังส่วนใหญ่จะพักรักษาตัวไม่ถึง 30 วัน และเคยรักษาผู้ป่วยนานสุด 33 วันเป็นผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจซึ่งมีภาวะแทรกซ้อน
4) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ชี้แจง ดังนี้
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 3 (1) การพิจารณาว่าหน่วยงานของรัฐหรือโรงพยาบาลที่ครอบครองข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของบุคคลจะสามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้หรือไม่ ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 49 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะก่อน หากข้อมูลดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ประกอบด้วย แล้วพิจารณาตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นการเพิ่มเติม
5) สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ชี้แจง ดังนี้
5.1) ข้อมูลผู้ป่วยถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งมีหลักการเดียวกัน คือ ห้ามไม่ให้เปิดเผยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล โดยพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 บัญญัติหลักการไว้ว่าเจ้าของข้อมูลต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือ ยกเว้นมีเหตุตามมาตรา 24
5.2) กรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ครอบครองข้อมูลเห็นว่าหน่วยงานหรือบุคคลที่มาขอข้อมูลผู้ป่วยเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 24 แล้ว จะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรา 15 อีกครั้งว่า การเปิดเผยรายงานการแพทย์หรือข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควรหรือไม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ และประโยชน์ของผู้ขอข้อมูลประกอบกัน เช่น เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากประกันชีวิต แต่ปัญหาในกรณีตามคำร้องนี้คือ หน่วยงานเจ้าของข้อมูลปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลไปแล้วว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐและประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น ผู้ขอข้อมูลต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หากคณะกรรมการดังกล่าวมีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยผู้ถูกร้องที่ 2 หรือกรมราชทัณฑ์ต้องเปิดเผยให้กับผู้ขอข้อมูลภายใน 7 วัน หากหน่วยงานไม่ยอมเปิดเผย ผู้ขอสามารถนำเรื่องไปฟ้องศาลปกครองได้
5.3) พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ถือเป็นกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หน่วยงานจึงสามารถปฏิเสธตามกฎหมายเฉพาะได้ และผู้ขอข้อมูลสามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งจะพิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรา 15 เช่นเดียวกัน
2.2.4 ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ
1) รองศาสตราจารย์ธีระ วรธนารัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิของกลุ่มเปราะบาง เด็ก สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และการเลือกปฏิบัติ ให้ความเห็นว่า
1.1) จากข้อมูลด้านสุขภาพของนายทักษิณเห็นว่า ช่วงแรกรับนายทักษิณมีระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนต่ำกว่าปกติเล็กน้อย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะสัมพันธ์กับภาวะพังผืดที่ปอดที่อาจทำให้ความสามารถของปอดในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลงกว่าคนปกติในอายุเท่ากัน อาการหลักคือ เหนื่อยและแน่นหน้าอก ซึ่งอาจสัมพันธ์กับความผิดปกติของหัวใจ และ/หรือปอด อย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันก็ได้ ส่วนค่าออกซิเจนต่ำลงบ่งบอกถึงแนวโน้มการเกิดออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติต่าง ๆ ข้างต้นร่วมด้วย กระบวนการทางการแพทย์ที่ควรทำ ณ ขณะนั้นคือการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ร่วมกับการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น แต่ด้วยข้อมูลที่มีจำกัดมาก จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าอาการดังกล่าวถือเป็นภาวะวิกฤติหรือไม่
1.2) การรักษาตัวนานกว่า 120 วัน อาจเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพและปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา หรือภาวะไม่พึงประสงค์จากยาที่ได้รับ ส่วนระยะเวลาในการรักษาตัวหลังผ่าตัดขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัดและจำนวนครั้งที่ผ่าตัดด้วย ซึ่งอาจเป็นไปได้ตั้งแต่ไม่กี่วันจนถึงหลายสัปดาห์ โดยตามมาตรฐานเวชปฏิบัติ แพทย์จะตรวจรักษาและประเมินผู้ป่วยเป็นระยะ รวมทั้งบันทึกความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อประโยชน์ในการทบทวนธรรมชาติของการป่วย และการตอบสนองต่อการดูแลรักษาของผู้ป่วย รวมถึงระบุแผนการดูแลรักษา และ/หรือแผนการจำหน่ายผู้ป่วยตามสถานการณ์ที่เหมาะสม
2) รองศาสตราจารย์ไวพจน์ จันทร์วิเมลือง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ให้ความเห็นว่า
2.1) จากข้อมูลด้านสุขภาพที่มีอยู่เห็นว่า อาการโดยทั่วไปของ นายทักษิณถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นค่าออกซิเจนในเลือดที่ตรวจจากปลายนิ้วถือว่าต่ำกว่าปกติ ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องถือเป็นภาวะที่อันตราย เนื่องจากอาจทำให้หัวใจวายได้ ซึ่งต้องรักษาโดยการผ่าตัดใส่บอลลูน โดยแพทย์สามารถใช้สายสวนหัวใจแล้วทำบอลลูนได้ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากทำบอลลูน 2 วัน ทั้งนี้ เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้น เนื่องจากไม่ทราบว่ามีโรคแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วยหรือไม่
2.2) ผู้ป่วยมีประวัติเคยติดเชื้อ Covid-19 แล้วมีภาวะปอดเป็นพังผืด เข้าใจว่าเป็นโรคพังผืดอุดกั้นในถุงลม ซึ่งจะทำให้ปอดทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนเข้าสู่ระบบเลือดได้ไม่ค่อยดี แต่ต้องดูภาพจาก CT SCAN ว่าในปอดมีพังผืดมากน้อยเพียงใด และออกซิเจนต่ำลงมากน้อยเพียงใด โดยค่าปกติอยู่ในช่วงร้อยละ 96–99 หากระดับออกซิเจนต่ำกว่าร้อยละ 95 ลงมาถือว่าอันตราย เพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยช็อกได้ ซึ่งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถควบคุมอาการพังผืดเรื้อรังในปอดจาก Covid-19 ได้ด้วยยาพ่น ส่วนอาการหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือกระดูกไขข้อเสื่อมไม่น่ากังวล เพราะเพียงทำให้มีอาการปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเคลื่อนไหวไม่ได้เท่านั้น ซึ่งไม่อันตรายถึงชีวิต
3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ให้ความเห็นว่า
3.1) การเปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องอาการป่วยในกรณีนี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะจะเป็นบรรทัดฐานให้กับผู้ป่วยในเรือนจำอีกเป็นจำนวนมากที่ควรได้รับในมาตรฐานเดียวกันและไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเปิดเผยอาการป่วยโดยละเอียด แต่ควรมีมาตรการให้ประชาชนสามารถเชื่อได้ว่า นายทักษิณป่วยหนักจริงจนถึงขั้นที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่สามารถรักษาได้ เพื่อป้องกันการใช้ช่องว่างของกฎหมายในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย
3.2) กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 กำหนดไว้ว่า หากผู้ต้องขังรักษาตัวเกิน 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบตามลำดับชั้น พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีข้อกำหนดว่าหากเลยระยะเวลา 120 วันไปแล้วต้องขออนุมัติอีกหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นอีกช่องว่างที่ทำให้ผู้ต้องขังรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำได้เป็นระยะเวลานานเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ นอกจากนี้ การกำหนดให้การรักษาตัวเกิน 60 วัน และ 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำเพียงแค่ขอความเห็นชอบจากอธิบดี และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อทราบ อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีควรมีความรับผิดชอบในกรณีนี้ด้วย เพื่อควบคุมและป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิด
4) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายให้ความเห็นว่า
4.1) การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังมีมาตรฐานที่เป็นสากลอยู่ในข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners หรือข้อกำหนดแมนเดลา-Mandela Rules) ซึ่งวางหลักไว้ว่า เป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่จะได้รับการปฏิบัติในเรื่องการรักษาอย่างเท่าเทียม โดยหลักการไม่เลือกปฏิบัติแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ (1) การไม่เลือกปฏิบัติระหว่างผู้ต้องขังกับบุคคลภายนอก กล่าวคือ แม้บุคคลนั้นเป็นผู้ต้องขังก็ควรได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลเท่ากับคนที่ไม่ใช่ผู้ต้องขัง และ (2) การไม่เลือกปฏิบัติระหว่างผู้ต้องขัง ที่ต้องถูกปฏิบัติเหมือนกันอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
4.2) การรักษาความลับของผู้ต้องขังป่วยย่อมได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ไม่ใช่ผู้ต้องขัง ยกเว้นข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น แต่การเปิดโอกาสให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจะช่วยให้สังคมแน่ใจได้ว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น กรมราชทัณฑ์จึงต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าผู้ต้องขังรายอื่นได้รับการปฏิบัติในมาตรฐานเดียวกัน และควรปรับปรุงกฎกระทรวง
การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ให้สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจในการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอก เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น อันเป็นการป้องกันการเลือกปฏิบัติ
2.2.5 การแสวงหาข้อเท็จจริงของพนักงานเจ้าหน้าที่
เนื่องจากในการตรวจสอบมีข้อจำกัดในการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเกี่ยวกับอาการป่วยของนายทักษิณและข้อมูลที่จะนำมาพิจารณาเปรียบเทียบ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แสวงหาข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา สรุปได้ดังนี้
1) จากเอกสารของกรมราชทัณฑ์ “กรมราชทัณฑ์แจงกรณีการปล่อยตัวพักการลงโทษนายทักษิณ ชินวัตร” ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 สรุปว่า กรณีของนายทักษิณจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป โดยมีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ทั่วไปครบตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2563 คือ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นำประเด็นการปฏิบัติต่อนายทักษิณที่แตกต่างไปจากนักโทษรายอื่น ไปอภิปรายในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน 2567 เช่น นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ได้อภิปรายถึงการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมกรณีนายทักษิณ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดโทษ การรักษาตัวนอกเรือนจำ และการได้รับการพักโทษตามเงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากประเด็นดังกล่าวจะสร้างความเคลือบแคลงให้แก่สังคมแล้ว ยังถูกตั้งคำถามและข้อสงสัยโดยสมาชิกในองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติด้วย
3) มีผู้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้นายทักษิณไปรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยมีประเด็นที่ร้องเรียนประกอบด้วย การส่งนายทักษิณไปรักษาที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ถูกต้องเหมาะสม ผิดกฎกระทรวงในการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 การไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 การจัดให้อยู่ห้องพิเศษ ชั้น 14 ต่อเนื่องกว่า 180 วัน และการให้พักโทษกรณีพิเศษไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคำร้องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
3. ความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำหรือละเลย การกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีการรักษาพยาบาลของนายทักษิณหรือไม่โดยมีข้อพิจารณา ดังนี้
3.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องอายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ และมาตรา 32 บัญญัติรับรองว่าบุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิดังกล่าว หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งมาตรา 47 บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ
3.2 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 7 กำหนดให้ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยหลักการดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 26 ที่กำหนดให้บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ทั้งนี้ สำหรับสิทธิในด้านสุขภาพนั้น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 12 รับรองสิทธิด้านสุขภาพในการสร้างสภาวะที่ประกันบริการทางแพทย์ และการให้การดูแลรักษาพยาบาลแก่ทุกคนในกรณีเจ็บป่วย นอกจากนี้ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ข้อ 24 กำหนดให้การให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ต้องขังเป็นความรับผิดชอบของรัฐ โดยผู้ต้องขังควรได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานเช่นเดียวกับที่รัฐจัดให้กับประชาชนอื่น และจะต้องสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นโดยไม่คิดมูลค่าและไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานภาพด้านกฎหมายของตน
3.3 สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยนั้น พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง วางหลักไว้ว่า ผู้ต้องขังย่อมมีสิทธิได้รับการตรวจจากแพทย์โดยเร็ว และหากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำที่ถูกควบคุมตัว จะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์และต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำก่อน โดยให้ส่งผู้ต้องขังไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐเป็นลำดับแรก เว้นแต่กรณีจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉินสามารถส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุดได้ โดยเรือนจำมีหน้าที่จัดกำลังควบคุมผู้ต้องขังเพื่อป้องกันการหลบหนีในอัตราผู้ต้องขัง 1 คน ต่อเจ้าหน้าที่ 2 คน ซึ่งการอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่า 30 วัน ให้เรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดี ระยะเวลาเกินกว่า 60 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบ และระยะเวลาเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานให้รัฐมนตรีทราบ โดยจะรายงานให้กรมราชทัณฑ์ทราบอีกครั้งเมื่อผู้ต้องขังกลับเข้าเรือนจำ
3.4 กรณีการส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาที่ผู้ถูกร้องที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของแพทย์และพยาบาลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ประกอบความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า อาการป่วยของนายทักษิณเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยเฉพาะค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าร้อยละ 95 ประกอบกับความดันโลหิตสูง ถือว่าอยู่ในภาวะอันตรายเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการช็อกได้
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและความเห็นดังกล่าวแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาภายนอกเรือนจำเมื่อวันที่ 22 ต่อเนื่องวันที่ 23 สิงหาคม 2566 เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้นและมีความมุ่งหมายที่จะป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดต่อชีวิตและสุขภาพของนายทักษิณ จึงถือเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังตามสมควร
3.5 กรณีผู้ถูกร้องที่ 2 รับตัวนายทักษิณไว้รักษาที่ห้องพักชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า
1) การที่นายทักษิณเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการวิกฤติซึ่งในช่วงแรกเข้าพักที่ชั้น 14 เนื่องจากขณะนั้นผู้ถูกร้องที่ 2 ให้ข้อมูลว่าเป็นเพียงชั้นเดียวที่มีห้องว่าง แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า นายทักษิณยังพักที่ห้องดังกล่าวมาโดยตลอด โดยผู้ถูกร้องที่ 2 ชี้แจงว่า นายทักษิณมีภาวะวิกฤติสลับปกติ จึงมีข้อสังเกตว่า หากนายทักษิณป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤติตามที่ชี้แจงจริง ก็ควรต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่นายทักษิณกลับพักในห้องพิเศษซึ่งตามปกติมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นจากภาวะวิกฤติและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว
2) กรมราชทัณฑ์แจ้งว่าไม่สามารถทราบได้ว่ามีผู้ต้องขังป่วยคนใดบ้างที่เข้าพักรักษาตัวในห้องพิเศษเนื่องจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ไม่ได้กำหนดให้เรือนจำที่ส่งตัวหรือสถานพยาบาลที่รับตัวผู้ต้องขังไว้ต้องรายงานให้ทราบ ทั้งที่กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากมีผลทำให้ผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งอาจได้รับสิทธิที่ดีกว่าผู้ต้องขังอื่น ๆ ที่มีอาการป่วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอดีตผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญที่อาจได้รับการดูแลแตกต่างหรือเป็นพิเศษมากกว่าผู้ต้องขังทั่วไป
3) ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันในการดูแลสุขภาพและให้การรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่มีอาการป่วย กำหนดให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของผู้ถูกร้องที่ 2 อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งจนกระทั่งนายทักษิณได้รับการปล่อยตัวพักโทษและออกจากผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
3.6 สำหรับกรณีผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 อนุญาตให้นายทักษิณพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานานนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า
1) ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของนายทักษิณจากผู้ถูกร้องทั้งสองซึ่งอ้างว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากนายทักษิณในฐานะเจ้าของข้อมูลเสียก่อน ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ตาม หากนายทักษิณ
มีอาการป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติสลับปกติจริงตามที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ชี้แจง ก็ควรได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินตามที่ได้มีความเห็นไว้แล้วในข้อ 3.5
2) นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567ซึ่งเป็นวันที่นายทักษิณสามารถออกจากการควบคุมของผู้ถูกร้องที่ 1 ตามโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษของกรมราชทัณฑ์ นายทักษิณสามารถเดินทางออกจากผู้ถูกร้องที่ 2 กลับบ้านพักส่วนตัวได้ในทันทีโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลแห่งอื่นอีก รวมทั้งสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรงอันผิดปกติวิสัยของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติจนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุผลในการพักรักษาตัวกับผู้ถูกร้องที่ 2 มาโดยตลอด
3) ดังนั้น จากข้อเท็จจริงและเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงยังมิอาจเชื่อได้ว่า นายทักษิณมีอาการป่วยจนถึงกับต้องรักษาตัวกับผู้ถูกร้องที่ 2 นานถึง 181 วัน โดยไม่สามารถออกไปรับการรักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือกลับไปคุมขังต่อที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ ในชั้นนี้จึงเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ที่มุ่งคุ้มครองความเสมอภาคของบุคคล จึงถือว่าเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
3.7 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีตามคำร้องนี้ นอกจากจะมีสาเหตุเกิดจากการกระทำหรือละเลยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำพ.ศ. 2563 ข้อ 5 (2) ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้ ซึ่งเปิดโอกาสให้สถานที่รักษาใช้ดุลพินิจโดยขาดการพิจารณาจากเรือนจำที่ส่งตัวผู้ต้องขังออกไป และข้อ 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานเกิน 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบตามลำดับชั้น พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีข้อกำหนดว่าหากเลยระยะเวลา 120 วันไปแล้วต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้ผู้ต้องขังรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำได้เป็นระยะเวลานานเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ อีกทั้งการที่ผู้ต้องขังรักษาตัวเกิน 60 วัน และ 120 วัน แต่ให้ผู้บัญชาการเรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณีเพื่อทราบเท่านั้น ย่อมก่อให้เกิดภาวะขาดการตรวจสอบถ่วงดุลและนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีดังกล่าวต่อไป
3.8 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเห็นเพิ่มเติมว่า นอกจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองจะเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามความเห็นข้างต้นแล้ว การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองและผู้ที่เกี่ยวข้องยังเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ด้วย ประกอบกับระหว่างการตรวจสอบได้ทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องในประเด็นนี้ไว้แล้ว ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ จึงเห็นควรส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 221 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ประกอบประกาศองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เรื่อง แนวปฏิบัติในการรับส่งเรื่องระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ข้อ 6
4. มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 28/2567 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 จึงมีมติว่า
4.1 การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ส่งตัวนายทักษิณไปรักษาที่ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นการดำเนินการขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ถือเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายและสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังตามสมควร แต่การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองให้นายทักษิณพักรักษาตัวในห้องพิเศษและรักษาตัวเป็นระยะเวลานานโดยยังไม่อาจเชื่อได้ว่าป่วยจนอยู่ในภาวะวิกฤติสลับปกติเป็นระยะ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
4.2 ให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (1) และ (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (1) และ (3) ประกอบมาตรา 36 และมาตรา 42 ดังนี้
4.2.1 มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
1) ให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและกรมราชทัณฑ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำของโรงพยาบาลตำรวจตามหน้าที่และอำนาจ และกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้อีก โดยต้องเปิดเผยความคืบหน้าเป็นระยะและแจ้งผลการดำเนินการต่อสาธารณะภายในเวลาอันรวดเร็วด้วย
2) ให้แพทยสภาตรวจสอบการกระทำของแพทย์สังกัดโรงพยาบาลตำรวจที่เป็นผู้ทำการรักษาหรือมีความเห็นทางการแพทย์ในกรณีตามคำร้องนี้ แล้วดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้
4.2.2 มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ให้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล กรณีมีเหตุยกเว้นตามนัยมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส ป้องกันการเลือกปฏิบัติ และคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
4.2.3 ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
ให้กระทรวงยุติธรรมแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ดังนี้
1) แก้ไขข้อ 5 (2) ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้ โดยควรกำหนดว่า “ในกรณีสถานที่รักษาผู้ต้องขังมีความจำเป็นต้องให้ผู้ต้องขังพักรักษาในห้องพิเศษหรือห้องอื่นนอกเหนือจากห้องปกติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากเรือนจำและกรมราชทัณฑ์เสียก่อน เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่หากไม่ดำเนินการทันทีจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ต้องขังนั้น ให้ดำเนินการไปก่อนแล้วรีบขอความเห็นชอบ โดยต้องระบุเหตุผลความจำเป็นประกอบการขอความเห็นชอบนั้นด้วย”
2) แก้ไขข้อ 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานาน ให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณี ต้องใช้อำนาจ ในการพิจารณาความเห็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ประกอบความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา มิใช่เพียงรับทราบ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ต้องขังรายหนึ่งรายใดได้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำโดยไม่มีเหตุอันควร
4.3 ให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 221 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ประกอบประกาศองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เรื่อง แนวปฏิบัติในการรับส่งเรื่องระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ข้อ 6
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.
อ่านข่าวเพิ่มเติม