ผู้ว่าฯ ออกโรงแฉ ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ต้นเหตุน้ำป่าทะลักท่วมพะเยา
ผู้ว่าพะเยา ออกโรงแฉ ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ต้นเหตุน้ำป่าทะลักท่วมหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เนื่องจากมีการนำเอาดินปิดกั้นทางน้ำหม้อแกงทอง น้ำไหลลงอ่านเก็บน้ำไม่ได้
จากกรณีน้ำป่าถล่มหมู่บ้าน-ชุมชนหอพักหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้ทรัพย์สิน นิสิตต้องหนีตายปีนขึ้นหลังคา ตามที่มีรายงานไปก่อนหน้านี้นั้น
ล่าสุดนายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากได้เกิดฝนตกหนักกว่า 2 ชั่วโมง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยเคียน ได้มีการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ขนานบริเวณบ้านหม้อแกงทอง ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา และได้มีการนำเอาดินปิดกั้นทางน้ำหม้อแกงทองที่จะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ ทำให้น้ำไม่สามารถลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำได้จนเกิดการไหลล้นเข้าท่วมชุมชนบ้านห้วยเคียนจนได้รับความเสียหาย
ทางจังหวัดพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งองค์กรส่วนท้องถิ่นจะได้ทำการนำกำลังเข้าทำการช่วยเหลือชาวบ้านและสำรวจความเสียหายต่อไป น้ำที่ท่วมในครั้งนี้ก็จะไหลลงสู่ลำน้ำแม่ต๋ำและไหลลงสู่กว๊านพะเยาต่อไป ซึ่งกว๊านพะเยาคงรองรับน้ำได้เพราะมีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว
และได้มีการแจ้งเตือนทางบริเวณท้ายน้ำเขตเทศบาลเมืองพะเยาที่จะได้รับผลกระทบในครั้งนี้ได้เร่งเก็บของขึ้นสูงที่สูงหลัง จากนี้จะได้เร่งฟื้นฟูในพื้นที่ ต.แม่กาและนักศึกษาที่ยังไม่มีที่พัก ทางจังหวัดได้ตั้งศูนย์พักพิงบริเวณสถานีตำรวจทางหลวงเก่าหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา
ขณะที่ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุน้ำท่วมใน อ.เมืองพะเยา ผ่านเฟซบุ๊กว่า
“ข้อสังเกตเบื้องต้นสาเหตุน้ำท่วมหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา
นอกจากฝนตกแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศควรเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาเหตุน้ำท่วมที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อรุ่งสางวันนี้
จากการตรวจเช็ค Google map มีประเด็นที่เป็นข้อสังเกต ดังนี้
1.มีน้ำห้วยสองสายที่ไหลมาบริเวณน้ำท่วม คือ หนองเม็ง-นาปอย ซึ่งเป็นน้ำห้วยที่ยาวที่สุดในโซนนี้ และห้วยแม่กาหลวงที่ไหลไปบรรจบกันที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ก่อนไหลงกว๊านพะเยา ซึ่งเป็นจุดน้ำไหลหลากรุนแรง (ภาพ 1 และ 2)
2.ทางต้นน้ำของห้วยหนองเม็ง-นาปอย มีอ่างเก็บน้ำห้วยตูบขอบ และฝายเล็กๆ (ในวงกลมสีเหลือง ภาพ 1)
3.บริเวณทางตอนบนของห้วยกาหลวงมีการก่อสร้างอุโมงค์โครงการรถไฟทางคู่คร่อมลำห้วยแม่กาหลวง น่าจะมีการถมลำน้ำจนรถบรรทุกวิ่งได้ (ภาพ 3) เมื่อเกิดน้ำมา ถนนดังกล่าวก็กลายเป็นเขื่อนย่อมๆ และบริเวณทางทิศใต้ของถนนก็กลายสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำที่น้ำสะสมในปริมาณมาก ซึ่งต่อมาได้มีคนถ่ายภาพมุมสูงพบว่าถนนนั้นขาดหลังเกิดเหตุการณ์ น้ำไหลหลาก ชมภาพถนนขาดได้จากเพจ คนอนุรักษ์ https://www.facebook.com/share/p/L2rsVsh6EdCaKXKn/
ขณะเกิดเหตุน้ำไหลหลากลงมา ในตอนเช้า ผู้ใช้เฟสบุ๊ครายหนึ่งระบุว่า น้ำไหลหลากมาจากเขื่อนแตกซึ่งสาเหตุอาจมาจาก 2 หรือ 3 ก็ได้ และอาจเข้าใจผิดว่าเขื่อนพัง ดูคลิปที่นี่ https://www.facebook.com/share/v/XZ5DSddb8whVFYgB/?mibextid=SphRi8
4.หน้ามหาวิทยาลัยพะเยาที่เรียกกันว่ากาดหลุม บริเวณนี้เป็นที่ สปก. หลังมีมหาวิทยาลัย บริเวณนี้มีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า และหอพักหนาแน่นทั้งบริเวณห้วยแม่กาหลวงที่อาจสร้างรุกล้ำหรือกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งถนนที่ข้ามลำน้ำที่ทำทางไหลของน้ำแคบมาก
ภาพแผนที่ทั้งหมดเป็นแผนที่จากการตรวจเช็คจาก Google map ในเบื้องต้นเพื่อตั้งข้อสังเกตในกรณีน้ำไหลหลากหน้ามหาวิทยาลัยพะเยาในครั้งนี้เท่านั้น ส่วนความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลต้องมีการตรวจเช็คซ้ำจากพื้นที่จริงอีกครั้ง เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุรวมกัน และหาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาต่อไป
ขอบคุณเพื่อนมิตรที่ช่วยกันเช็คข้อมูลครับ“
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดคลิป ‘น้ำป่าทะลัก’ เมืองพะเยา น้ำเร็วมาก จนรถยนต์กลายเป็นเศษกระป๋อง
- พะเยา อ่วม น้ำป่าทะลัก-หนีตายขึ้นที่สูง เร่งอพยพ น.ศ. หน้า ม.พะเยา หลังน้ำลด
- สถานการณ์อุทกภัย 4 จังหวัด เชียงราย-พะเยา-แพร่-สุโขทัย 27 อำเภอ 679 หมู่บ้าน เร่งช่วยกว่าหมื่นครัวเรือน