สลด ลูกน้องลาป่วย หัวหน้าบีบมาทำงาน สุดท้ายเสียชีวิตเพราะ ‘ลำไส้เน่า’
วันที่ 16 ก.ย.2567 มีเรื่องเศร้าของมนุษย์แรงงานแต่เช้า เฟซบุ๊กแฟนเพจ “หนุ่มสาว-โรงงาน” ติดตามกว่า 1.9 แสนคน ได้โพสต์ภาพแชตสนทนาจากไลน์ ที่มีเนื้อหาใจความทำนองว่า ลูกน้องขอลาป่วยหลายวัน หัวหน้าให้ขอใบรับรองแพทย์ ต่อมาพบว่าหญิงสาวได้เสียชีวิตลงแล้ว แต่ที่มีดราม่าคือ หัวหน้าไม่ยอมให้หยุดแม้รู้ว่าป่วย
เพจต้นทางระบุได้ว่า “ขอใบรับรองแพทย์ ด้วยนะคะ หยุดหลายวันต่อหลายกัน ว่า เป็นไงบ้าง จากใบแพทย์ น้องต้องส่งใบมรณะเลยหญิงเอ้ย, ตอนนี้น้องได้เสียชีวิตแล้วนะคะ”
จากนั้นก็ได้เล่ารายละเอียดของเหตุการณ์ไว้ดังนี้ “หัวหน้าบริษัทดังแห่งในนิคมบางปู สมุทรปราการ ลูกน้องไม่สบายไม่ให้ลูกน้องหยุด บีบบังคับให้น้องมาทำงานทางอ้อม โดยที่น้องไม่เคยหยุดงานเลย น้องไม่สบายตอนนี้เสียแล้ว #ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวด้วยนะครับ
เพิ่มเติมให้นะครับ โพสต์ด้านบนตอนแรกเอามาจากคนที่ทำงานน้อง แต่เขาลบไปแล้ว จะสรุปให้นะครับ จริง ๆ คือน้องเขาจะขอลาป่วยต่อ แต่หัวหน้าไม่ให้ลา ไม่รู้เขาบีบบังคับแบบไหน น้องเลยต้องมาทำงานทั้งที่ยังป่วยอยู่ จะขอออกโอหัวหน้าก็ไม่ให้ออก สรุปน้องไปหาหมอช้าเลยเสียชีวิต ประมาณนี้ครับ”
ต่อมาเมื่อโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไปจำนวนมาก ทางแอดมินเพจ ก็ได้เข้ามาอธิบายเพิ่มเติมว่า น้องผู้เสียชีวิตรักษาตัวที่โรงพยาบาลระหว่างวันที่ 5 ถึง 9 กันยายน และได้ลาป่วยพร้อมส่งใบรับรองแพทย์อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม หลังจากออกจากโรงพยาบาลได้ไม่นาน พนักงานมีอาการทรุดลงอีกในวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน และได้ขอลาป่วยอีกครั้ง แต่หัวหน้างานไม่อนุญาตให้ลา
เพื่อนร่วมงานแจ้งว่า พนักงานคนดังกล่าวจำเป็นต้องฝืนทำงานทั้งที่ยังไม่หายดี หลังเลิกงานในวันนั้น พนักงานได้ไปพบแพทย์อีกครั้ง และไม่ได้ตอบข้อความในกลุ่มไลน์ที่หัวหน้างานสอบถามเรื่องใบรับรองแพทย์ จนกระทั่งเพื่อนร่วมงานแจ้งข่าวการเสียชีวิตของพนักงานในเวลาต่อมา
พนักงานผู้เสียชีวิตเป็นชาวจังหวัดสุโขทัย อายุ 30 ปี และมีอาการปวดท้องและปวดหลังก่อนเข้ารับการรักษา สาเหตุการเสียชีวิตที่แพทย์ระบุคือลำไส้เน่า
ประเด็นที่ทำให้เพื่อนร่วมงานไม่พอใจคือการที่หัวหน้างานไม่อนุญาตให้พนักงานลาป่วยในวันที่ 12 กันยายน ซึ่งอาจส่งผลให้พนักงานไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ทีมข่าวไทยเกอร์ได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงาน ให้ความเห็นว่า ตามกฎหมายแรงงานไทย ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้ตามจำนวนวันที่ป่วยจริง โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี หากลาป่วยเกิน 30 วันทำงาน นายจ้างอาจไม่จ่ายค่าจ้างในส่วนที่เกิน
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าไม่มีสิทธิปฏิเสธการลาป่วยของลูกจ้าง หากลูกจ้างป่วยจริงและสามารถแสดงหลักฐานการป่วยได้ เช่น ใบรับรองแพทย์ กรณีหญิงสาวรายนี้ มีประวัติการป่วยเข้าโรงพยาบาลมาก่อน มีใบรับรองแพทย์ถูกต้องชัดเจน การปฏิเสธไม่ให้ลาป่วยครั้งล่าสุดย่อมไม่สมเหตุสมผล
หากลูกจ้าง เห็นว่า หัวหน้าปฏิเสธการลาป่วยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลูกจ้างสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
อ่านข่าวอื่นๆ ที่มีประโยชน์