ย้อนประวัติ ‘ราเกซ สักเสนา’ พ่อมดการเงิน ติดคุกคดียักยอกธนาคาร จนวันได้อิสรภาพ
เปิดประวัติ ราเกซ สักเสนา (Rakesh Saxena) ชายชาวอินเดียผู้ได้รับฉายา “พ่อมดการเงิน” คือบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเงินไทยช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง เขาเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องในความเฉลียวฉลาดด้านการเงิน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นบุคคลที่ถูกตราหน้าว่าเป็นต้นเหตุของหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ จนนำไปสู่การต้องโทษจำคุก 33 ปี ปี ปรับนับพันล้านบาท
เส้นทางเข้าสู่วงการการเงินของ ราเกซ บนแผ่นดินไทย
ราเกซ สักเสนา เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ที่เมืองอินดอร์ รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย แม้จะจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวรรณกรรม จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่เขากลับมีความหลงใหลในโลกของการเงินมากกว่า จึงเริ่มต้นเส้นทางอาชีพด้วยการเป็นโบรกเกอร์ค้าเงิน สั่งสมประสบการณ์ในแวดวงการเงินจากหลายประเทศ ก่อนจะเดินทางมาถึงประเทศไทยในปี พ.ศ. 2520
ในประเทศไทย ราเกซ สักเสนา เริ่มต้นจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเงินและการลงทุน เขามีบทบาทหลากหลาย ทั้งเป็นนักเขียนคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ และที่ปรึกษาให้กับบริษัทหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ หรือ บีบีซี
ด้วยความสามารถและชื่อเสียงที่สั่งสมมา ราเกซได้รับความไว้วางใจจากนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารบีบีซี ให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในปี พ.ศ. 2532 การเข้ามาของราเกซทำให้ธนาคารบีบีซี ซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดทุน หวังที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์กลับมาอีกครั้ง
กลยุทธ์การลงทุนที่นำธนาคารบีบีซีไปสู่หายนะ
ราเกซ สักเสนา ได้นำกลยุทธ์การลงทุนแบบใหม่เข้ามาใช้กับธนาคารบีบีซี โดยเน้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อการเทกโอเวอร์กิจการ โดยเฉพาะกิจการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กลยุทธ์นี้ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในช่วงแรก ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้น ธนาคารได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และราเกซเองก็ได้รับผลประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์นี้มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากต้องอาศัยการเติบโตของตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดกระแสข่าวลือเกี่ยวกับการปล่อยกู้ที่ผิดปกติของธนาคารบีบีซี ประกอบกับภาวะตลาดหุ้นที่เริ่มซบเซา ความเชื่อมั่นของประชาชนก็ลดลงอย่างรวดเร็ว เกิดการแห่ถอนเงินฝาก จนทำให้ธนาคารบีบีซี ขาดสภาพคล่องและต้องปิดตัวลงในที่สุด
คดีความและการหลบหนี
หลังจากธนาคารบีบีซี ล้มละลาย ราเกซ สักเสนา ถูกดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์และหลบหนีไปยังประเทศแคนาดา เขาต่อสู้คดีในแคนาดาเป็นเวลานานกว่า 13 ปี ก่อนที่จะถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2552
ในที่สุด ศาลฎีกาตัดสินจำคุกราเกซ สักเสนา เป็นเวลา 20 ปี และปรับเป็นเงินกว่า 33 ล้านบาท พร้อมทั้งให้ชดใช้เงินแก่ธนาคารบีบีซี เป็นจำนวนเงินกว่า 2,000 ล้านบาท
สรุปผลการตัดสินของศาลทั้ง 3 ชั้น
1. ศาลชั้นต้น พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และประมวลกฎหมายอาญา ลงโทษจำคุก 335 ปี (จำคุกจริง 20 ปี) และปรับ 33,500,000 บาท พร้อมทั้งให้ชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายรวมกว่า 2,500 ล้านบาท
2. ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
3. ศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลล่าง ยืนยันคำตัดสินจำคุก 20 ปี ปรับ 33,500,000 บาท และชดใช้เงินกว่า 2,500 ล้านบาท
ชีวิตในปัจจุบัน
ราเกซ สักเสนา ปัจจุบัน อายุ 72 ปีแล้ว มีอาการป่วยด้วยโรคชรา ถูกส่งมารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จนกระทั่งได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำในวันที่ 10 เดือนกันยายน พ.ศ. 2567 หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ เขาจะถูกผลักดันออกนอกประเทศต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง