เตือน 6 จังหวัดท่วมแน่ 9-10 ก.ย. “เขื่อนเจ้าพระยา” ระบายน้ำ 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อัปเดตสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 กันยายน 2567 เวลา 7 โมงเช้าที่ผ่านมา อิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ประกอบฝนตกสะสมหลายพื้นที่ ช่วง 9-10 ก.ย. อาจต้องระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นในอัตรา 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี 6 จังหวัดรีบขนของขึ้นที่สูง เจอผลกระทบแน่
วานนี้ (4 ก.ย. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ที่จะส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทย ทำให้จะมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ในช่วง 7 วันข้างหน้านี้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมพื้นที่รองรับน้ำในเขื่อน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝน
รวมถึงจะมีการใช้พื้นที่หน่วงน้ำ ก่อนที่ปริมาณน้ำจะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งในช่วงวันที่ 9 – 10 ก.ย. 67 อาจจะต้องระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตราประมาณ 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมในบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี
ส่วนปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.ตาก (72 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อุดรธานี (98 มม.) ภาคกลาง : จ.สิงห์บุรี (49 มม.) ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (67 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (12 มม.) ภาคใต้ : จ.พังงา (85 มม.)

คาดการณ์ช่วงวันที่ 6-7 ก.ย. 67 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
โดยพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” (YAGI) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนมีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 6 – 7 ก.ย. 67 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลง
สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม ปริมาณน้ำรวม 63% ของความจุเก็บกัก (50,626 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 46% (26,4 ล้าน ลบ.ม.) ขณะเดียวกัน สทนช. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่.1 ก.ย. 67 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 3 – 9 ก.ย. 67 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
– พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสตูล
– เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
– เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตราด แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา.



อ่านข่าวเพิ่มเติม
- นนทบุรีแจ้งเตือน 30 ชุมชน ขนของขึ้นที่สูง รับมือน้ำทะเลหนุนสูง
- รวมธนาคาร ออกมาตรการช่วยลูกหนี้ประสบภัยน้ำท่วม ลดดอกเบี้ย-พักหนี้
- คนอยุธยาตัดพ้อ รับจบพื้นที่น้ำท่วมตลอด ร้องเร่งการเยียวยาจากภาครัฐ