แจก 5 พิกัด ดูดาวเสาร์ใกล้โลก แบบไร้วงแหวน รวมครบเวลา-สถานที่
เปิด 5 พิกัด ชมความงามของดาวเสาร์ไร้วงแหวน ใกล้โลกที่สุดในรอบปี ตรงกับวันที่ 8 ก.ย. 67 เช็กเวลาและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
วันที่ 8 กันยายน 2567 ดาวเสาร์โคจรใกล้โลกที่สุดในรอบปี ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แจกพิกัดดูดาวเสาร์ ผ่านกล้องโทรทัศน์ได้ที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, โคราช, ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา และสงขลา
วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ จะเรียงกันในแนวเส้นตรง ส่งผลให้ดาวเสาร์เข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 1,295 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าวจะสังเกตดาวเสาร์ได้ทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ปรากฏสว่างเด่นชัดตลอดทั้งคืน
ทั้งนี้ ภายในเดือน ก.ย. 67 ระนาบวงแหวนของดาวเสาร์จะเอียงทำมุมกับโลกประมาณ 4 องศา ส่งผลให้มองเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ได้ไม่ชัดเจนนัก และมุมเอียงจะลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งในเดือนมีนาคมปี 2568 จะเป็นช่วงที่วงแหวนดาวเสาร์มีมุมเอียงน้อยที่สุด
สำหรับคนบนโลกจะมองเห็นดาวเสาร์ “ไร้วงแหวน” ซึ่งมุมเอียงของวงแหวนดาวเสาร์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามการโคจรของดาวเสาร์รอบดวงอาทิตย์ ใช้เวลาประมาณ 29.4 ปี ในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบ ทำให้ดาวเสาร์มีลักษณะเสมือน “ไร้วงแหวน”
อย่างไรก็ตาม ทุก 15 ปี จะสามารถเห็นความสวยงามของเสาร์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี ถือเป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจในการสังเกตการณ์ดาวเสาร์นั่นเอง โดยในปีนี้ผู้ที่สนใจดูดาวเสาร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้เตรียมจัดสถานที่ดู “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2567 ตั้งแต่เวลา 18:00 – 22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 5 แห่ง ดังนี้
5 พิกัดดูดาวเสาร์ใกล้โลกในรอบปี
- อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ โทร. 081-8854353
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา โทร. 086-42191489
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ขอนแก่น โทร.063-8921854
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา โทร. 095-1450411
ประชาชนสามารถเข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือชม LIVE ปรากฏการณ์ได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- จุดธูป 39 ดอก ต้อนรับดาวเสาร์ย้าย 2566 แก้ดวงตกชะงัด
- ดูดาวกลางกรุง สวนเบญจกิติ รับลมหนาวปลายปี ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า
- NASA เผย ภาพถ่ายจักรวาล จากกล้องดูดาวอวกาศ เจมส์ เวบบ์