ง่วงนอนหลังกินข้าว ไม่อันตราย แต่ถ้าง่วงบ่อย อาจเป็นสัญญาณของ 4 โรคร้ายที่ไม่รู้ตัว
ง่วงนอนหลังกินข้าว ไม่อันตราย เพราะร่างกายใช้พลังงานย่อยอาหาร ฮอร์โมนพุ่ง แต่ถ้าง่วงบ่อย อาจเป็นสัญญาณของ 4 โรคร้ายที่ไม่รู้ตัว
คำพูดที่ว่า “หนังท้องตึง หนังตาหย่อน” ไม่ได้เป็นสำนวนเปรียบเปรยลอยๆ ถึงอาการง่วงนอนหลังกินข้าวอิ่ม แต่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ตามคำอธิบายของ นพ.หม่า เว่ย ชิง แห่งแผนกโภชนาการ โรงพยาบาลศูนย์การบินและอวกาศ ประเทศจีน อาการง่วงหลังทานอาหารเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ การไหลเวียนของเลือดและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
เมื่อเรากินอาหาร ร่างกายจะย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ร่างกายจึงหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้กลับมาเป็นปกติ กระบวนการนี้ส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด เช่น เซโรโทนิน และ เมลาโทนิน ซึ่งทำให้เรารู้สึกง่วงและผ่อนคลาย อีกทั้งอาหารบางชนิด เช่น อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง หรืออาหารมื้อใหญ่ อาจกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เราง่วงนอนได้มากกว่าอาหารชนิดอื่นๆ
นอกจากนี้ การย่อยอาหารเป็นกระบวนการที่ต้องใช้พลังงาน ร่างกายจึงต้องส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะในระบบย่อยอาหารมากขึ้น ทำให้อวัยวะอื่นๆ เช่น สมอง ได้รับเลือดน้อยลง ให้เรารู้สึกง่วงเพลีย
อย่างไรก็ตาม นพ.หม่าเน้นย้ำว่า อาการง่วงหลังทานอาหารมักไม่รุนแรงหรือเกิดขึ้นบ่อยเกินไป แต่หากคุณรู้สึกง่วงทุกครั้งหลังทานอาหาร โดยเฉพาะเมื่ออาการง่วงมาเร็วแล้วรุนแรงมากจนถึงตื่นไม่อยู่ อาจเป็นสัญญาณของ 4 โรคอันตรายต่อไปนี้
1. โรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังทานอาหารได้ยาก ส่งผลให้เกิดอาการง่วงง่าย เร็ว และต้านทานยากกว่าคนปกติ
2. ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป
ภาวะนี้ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง เช่น การมีฮอร์โมนไทรอยด์น้อยเกินไปส่งผลต่อระดับซีโรโทนินในสมอง ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า เหนื่อยล้า ง่วงนอน ความจำไม่ดี และตอบสนองช้า โดยเฉพาะเมื่อกินอิ่ม ร่างกายต้องการฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อการเผาผลาญและกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่ระบบย่อยอาหารก็ต้องการพลังงานมาก จึงทำให้รู้สึกอยากพักผ่อน
3. โรคหัวใจ
เมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จะทำให้สมองขาดออกซิเจนและระบบประสาททำงานลดลง ส่งผลให้ไม่สามารถตื่นตัวได้ อาการง่วงบ่อยๆ อาจเป็นปัญหาเกี่ยวกับการบีบตัวของหัวใจ ในขณะที่เมื่อกินอิ่ม เลือดจะไหลลงสู่กระเพาะอาหารเพื่อช่วยย่อย ทำให้อวัยวะอื่นๆ รวมทั้งหัวใจและสมองขาดเลือด
4. ภาวะความดันโลหิตต่ำ
ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำมักเหนื่อยง่ายและง่วงง่าย หลังกินอิ่ม ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ความผิดปกติของระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว จึงต้านทานอาการง่วงได้ยาก ภาวะความดันโลหิตต่ำหลังมื้ออาหารพบได้บ่อยในผู้สูงอายุและอาจมีอาการวิงเวียนร่วมด้วย
หากคุณมักรู้สึกง่วงหลังทานอาหารหรือง่วงโดยไม่มีสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดขึ้นบ่อยในช่วงกลางวัน ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง