อ.เจษฎ์ ยืนยัน พายุไต้หวันไม่ถล่มไทย แต่ฝนหนักมาแน่ 30 ก.ย.- 2 ต.ค.
อ.เจษฎา เคลียร์ชัด ข่าวลือพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ถล่มไทย เป็นข้อมูลเท็จ ไม่เกิดน้ำท่วมหนักอย่างปี 2554 แน่นอน เตือน 30 ก.ย. – 2 ต.ค. นี้ เตรียมรับมือฝนตกหนัก
“ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ถึงข่าวลือที่กำลังแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ ที่อ้างว่าจะถล่มไต้หวันในอีก 5 วันข้างหน้า และจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ก่อให้เกิดน้ำท่วมหนักกว่าปี 2554 ถึงสองเท่า โดยระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง
ล่าสุด อ.เจษฎ์ อธิบายว่า ณ ขณะนี้ ยืนยันยังไม่มีพายุไต้ฝุ่นก่อตัวที่ไต้หวัน มีเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำอาจพัฒนาเป็นพายุโซนร้อน ที่อาจจะพัฒนาขึ้นเป็นพายุโซนร้อน อาจส่งผลกระทบไต้หวัน แต่ไม่ใช่ไทย
ด้านหน่วยงาน TyTech Taiwan ได้เผยแพร่ข้อมูลระบุว่า เมื่อเวลา 8 โมงเช้าของวันพุธที่ 25 กันยายน พายุดีเปรสชั่นในน่านน้ำทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเกียวชู ประเทศญี่ปุ่น ได้ทวีกำลังแรงขึ้นกลายเป็นพายุโซนร้อน ชื่อพายุ “ซีมารอน” Cimaron ในภาษาตากาล็อก แปลว่า สัตว์ป่าดุร้ายที่คุมไม่อยู่ จะเคลื่อนที่เข้าไปในหมู่เกาะญี่ปุ่น และส่งผลกระทบต่อผู้ที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นช่วงนี้
ประเด็นที่สำคัญคือ กลุ่มหย่อมความกดอากาศต่ำที่อยู่ทางตอนใต้ของเกาะเรียวกิว ประเทศญี่ปุ่น อาจจะส่งผลกระทบต่อเกาะไต้หวันได้ โดยคาดว่าในอีกไม่กี่วันนี้จะก่อตัวใหญ่ขึ้น และพัฒนาเป็นพายุโซนร้อนได้ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ยังไม่แน่ชัดว่าเส้นทางการเดินทางของพายุโซนร้อนลูกนี้จะไปในทิศทางใด อาจจะมุ่งตรงไปทางเกาะไต้หวัน หรืออาจจะพุ่งขึ้นไปทางเหนือ
อย่างไรก็ตาม หากพายุโซนร้อนลูกนี้เกิดขึ้นจริง จะอยู่บริเวณเกาะไต้หวัน แต่จะไม่มุ่งมาทางมาประเทศไทยอย่างแน่นอน
สำหรับประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก เตรียมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงวันที่ 30 กันยายน – 2 ตุลาคม นี้ เนื่องจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงจากจีน ร่องมรสุม และลมตะวันออกเฉียงใต้
โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงภาคตะวันออก มีโอกาสเกิดฝนตกหนักมากบางพื้นที่ เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะบริเวณลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มต่ำ ควรเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ส่วนข้อมูลที่ว่า สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของร่องมรสุมและพายุฝนครั้งนี้ เกิดจากก๊าซไฮโดรเจนรั่วออกจาก ‘เตาปฏิกรณ์’ ของการทดสอบดวงอาทิตย์เทียมที่จีน ทำให้ลมมรสุมรอบข้างถูกดูดหายไปรวมตัวกันเป็นเมฆ ที่กระจุกลอยอยู่ในเขตประเทศเนปาล บังกลาเทศ อินเดียและตอนบนของเมียนมาร์ นั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจาก ‘เตาปฏิกรณ์ดวงอาทิตย์เทียม’ คือ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่น ที่ยังศึกษาวิจัยกันอยู่ทั่วโลกว่าจะใช้ผลิตไฟฟ้าได้จริงหรือไม่ อีกทั้งไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง