สุขภาพและการแพทย์

หมอหมู เตือนชัด “เดินตกท่อระบายน้ำ” เสี่ยงภัยร้ายแฝง ที่มากกว่าเจ็บตัว

หมอหมู วีระศักดิ์ แชร์ความรู้วิทยาศาสตร์ ตกท่อระบายน้ำเสี่ยงอะไรบ้าง? ชี้ชัดอาจติดเชื้อโรคขึ้นสมอง ปอด กระแสเลือดได้ พร้อมลิสต์วิธีเอาตัวรอดหากพลาดตกลงไป

เป็นที่ทราบกันดีว่าถนนเมืองไทยสภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หลุมบ่อเต็มไปหมด เกิดอุบัติเหตุทุกวัน “หมอหมู” วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โพสต์เตือนภัย “เดินตกท่อระบายน้ำ เสี่ยงอะไรกับชีวิตบ้าง” แบบลิสต์ไว้เป็นข้อ ๆ พร้อมวิธีเอาตัวรอดหากพลาดตกลงไป ตามดังนี้

Advertisements

ความเสี่ยงจากการตกท่อระบายน้ำ

1. การบาดเจ็บจากการตก: การบาดเจ็บจากการตกท่อระบายน้ำขึ้นอยู่กับความลึก หากมีความลึกมากก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง เช่น การบาดเจ็บที่ศีรษะ กระดูกหัก หรือการบาดเจ็บของอวัยวะภายใน และถึงแม้จะบาดเจ็บไม่รุนแรง เช่น มีบาดแผลต่างๆ บริเวณผิวหนัง ก็จะต้องใช้เวลาในการรักษานานขึ้น

2. การจมน้ำ: หากท่อระบายน้ำมีความลึกและมีน้ำขัง การตกลงไปอาจทำให้เกิดการจมน้ำได้

3. การขาดอากาศหายใจ: ในบางกรณี การตกลงไปในท่อระบายน้ำที่มีพื้นที่จำกัดอาจทำให้เกิดการขาดอากาศหายใจได้

4 การติดเชื้อ: น้ำในท่อระบายน้ำมักมีเชื้อโรคและสารเคมีที่เป็นอันตราย การสัมผัสกับน้ำเหล่านี้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือการเป็นพิษได้

Advertisements
หมอหมู อธิบายความเสี่ยงจากการตกท่อระบายน้ำ
ภาพจาก : หมอหมู วีระศักดิ์

ทั้งนี้ท่อระบายน้ำทิ้งในแต่ละพื้นที่อาจมีเชื้อโรคและสารเคมีที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของน้ำทิ้ง เช่น น้ำทิ้งจากครัวเรือน และน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ แต่เชื้อโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และพยาธิ ซึ่งมักจะทำให้เกิดโรคผิวหนัง และ โรคทางเดินอาหาร

หากมีการสำลักน้ำเข้าสู่ปอด อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปอดได้ ซึ่งในรายที่รุนแรงก็จะมีการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ ที่มีวัยรุ่นชายไทย ขับรถตกคูระบายน้ำ สำลักน้ำครำเข้าสู่ปอด สุดท้ายตรวจพบ เชื้อรา Scedosporium (สเคโดสโปเรียม) ในสมองนั่นเอง

วิธีเอาตัวรอดเมื่อตกท่อระบายน้ำ

1. ตั้งสติ และช่วยเหลือตนเองขึ้นจากท่อระบายน้ำ หากไม่สามารถช่วยเหลือคนเองได้ ควรร้องตะโกนขอความช่วยเหลือจากผู้ที่ผ่านไปผ่านมา

2. สำรวจอาการบาดเจ็บของตัวเอง หากมีอะไรเสียบปักคาอยู่บริเวณบาดแผล ไม่ควรดึงออก

3. ถึงแม้จะมีการบาดเจ็บเป็นบาดแผลเพียงเล็กน้อย ก็ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา เพราะบาดแผลเหล่านี้อาจมีการติดเชื้อและอาจรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

4. กรณีสำลักน้ำจากท่อระบายน้ำทิ้งเข้าสู่ปอด ต้องรีบไปเข้ารับการรักษาตัวภายในโรงพยาบาลทันที

ตกท่อระบายน้ำอาจเสี่ยงติดเชื้อโรคได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

yo

First jobber Gen z ใหม่แกะกล่องส่งตรงจาก อักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. งานอดิเรกชอบท่องโลกออนไลน์ เล่นกับแมว เที่ยวกับครอบครัว อ่านมังงะ เล่นเกม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button