“วิมานหนาม” ชีวิตจริงยิ่งกว่าหนัง แม่ฮ่องสอนไม่มีโรงหนัง คนในพื้นที่ไม่มีสิทธิ์ดู
รู้ความจริงถึงกับอึ้ง ภาพยนต์เรื่อง “วิมานหนาม” มีฉากที่ถ่ายทำในแม่ฮ่องสอน แต่น่าเสียดายที่คนในจังหวัดไม่มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะแม่ฮ่องสอนไม่มีโรงหนัง
กระแสแรงแทบฉุดไม่อยู่ สำหรับ “วิมานหนาม” ภาพยนต์ที่ว่าด้วยสิทธิและความไม่เท่าเทียมในสังคม หลังเฉิดฉายบนจอแก้วได้เพียง 5 วันก็ทำรายได้ทะลุ 50 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย ทั้งนี้แม้ว่าหลายคนจะได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว และวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน แต่ก็มีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ดู รวมถึงผู้ชมในบางพื้นที่ที่อยากดูแต่ไม่มีโอกาสได้รับชมด้วย
วันที่ 24 ส.ค. 67 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความในกลุ่ม เที่ยวแม่ฮ่องสอน ว่า “ใครไปชมมาแล้ว #วิมานหนาม เล่าหื้อฟังโตย แม่ฮ่องสอนบ่ามีโรงหนังจ้าว” ทำให้หลายคนคอมเมนต์ด้วยความตกใจ เพราะไม่รู้มาก่อนว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่มีโรงภาพยนตร์ หนำซ้ำสิ่งที่ตลกร้ายกว่านั้น คือ วิมานหนาม ได้ถ่ายทำฉากสำคัญโดยใช้โลเคชันในจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย แต่คนในพื้นที่นั้นกลับไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะไม่มีโรงฉายหนัง
ต่อมาในวันที่ 25 ส.ค. 67 กระแสโซเชียลได้กลับมาพูดถึงประเด็นนี้อีกครั้ง บนโลกทวิตเตอร์หรือ X โดยมีชาวเน็ตท่านหนึ่งโพสต์ภาพคอมเมนต์ที่เกี่ยวกับหนังเรื่องวิมานหนาม ระบุว่า “เราคนแม่ฮ่องสอน อยากไปดูมาก ๆ แต่ที่นี่ไม่มีโรงหนังเลยค่ะ ขอบคุณมากสำหรับข้อมูลดี ๆ นะคะ” ซึ่งเจ้าของโพสต์ที่นำภาพนั้นมาเผยแพร่ ได้ใส่แคปชันไว้ว่า “เรียลอะไรขนาดนั้น #วิมานหนาม จังหวัดที่เหลื่อมล้ำที่สุด” จนทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นกระแส และมีผู้กดรีโพสต์ถึง 1.6 หมื่นคน
นอกจากนี้ยังมีหลายคนแสดงความเห็นในประเด็นนี้ โดยช่วยยืนยันว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่ความเจริญยังไม่ค่อยเข้าถึงจริง ๆ หากอยากดูหนังสักเรื่อง ต้องนั่งรถไปไกลถึงเชียงใหม่ อีกทั้งยังบอกว่าเป็นจังหวัดที่ไม่มีห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ เหมือนเมืองกรุง คนแถวนั้นถ้าจะเที่ยวก็พากันไปร้านสะดวกซื้อ ซึ่งความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ตรงกับเรื่องราวในภาพยนตร์วิมานหนามอย่างไม่มีผิดเพี้ยน
“ใช่ค่ะ แม่ฮ่องสอนไม่มีโรงหนัง เราก็เป็นคนแม่ฮ่องสอน มีอยู่ครั้งหนึ่งอยากดูหนังเรื่องหนึ่งมาก ต้องขึ้นไปดูที่เชียงใหม่ ใช้เวลา 6 ชม. ตั๋วรถตู้ 250 บาท”
“เศร้าแต่จริง เมื่อก่อนที่บ้านก็ไม่มีโรงหนังเหมือนกัน ถ้าอยากดูต้องต่อรถไปดูที่เชียงใหม่ การจะดูหนังสักเรื่องคือยากมาก”
“คนกทม. อาจจะไม่รู้ว่าในขณะกทมและปริมณฑลเดินแค่ 10 ก้าวก็เจอห้าง นุ่นนี่นั่น บางจังหวัดห้างมีแค่ 1-2 ที่ บางพื้นที่เป็นห้างประจำจังหวัดที่ไม่ใช่เครือ central /the mal โลตัส บิ้กซีด้วยซ้ำ”
“จังหวัดที่ไม่ได้เป็นจังหวัดหลัก ก็ไม่มีเหมือนกันค่ะ อึ้งสุดที่เคยเจอคือ เหมารถออกจากมู่บ้านไปเที่ยวเซเว่น เราแบบบห๊ะ ในกทม เดินปากซอยก็เจอแล้ว ความเหลื่อมล้ำเยอะจริง ๆ”
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากเพจ โรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ได้ระบุว่าประมาณ 40 ปีที่แล้วจังหวัดแม่ฮ่องสอนเคยมีโรงหนังที่ชื่อว่า “แม่สะเรียงรามา” ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง โดยมีเจ้าของคือ คุณรามจันทร์ การานา แต่ในปัจจุบันได้ปิดตัวลงแล้ว กลายเป็นอาคารสำหรับบริการก๊าซหุงต้มที่มีชื่อว่า “เวียงใหม่”
ทั้งนี้ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมที่ถ่ายทอดในวิมานหนาม ก็ดูจะสะท้อนภาพความจริงอันน่าหดหู่ได้อย่างจริงจนเจ็บมากขึ้น เนื่องจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลในปี 2565 ระบุว่าแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุดในประเทศไทย และหากพิจารณาข้อมูลย้อนหลังไปถึง 10 ปี จังหวัดนี้ก็ยังครองสถิติเป็นพื้นที่ที่เผชิญปัญหาความจนเรื้อรังมากที่สุดในประเทศไทยอยู่ดี
ความจน และความเจ็บของตัวละครในหนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมในการรับชมเท่านั้น แต่เป็นการถ่ายทอดความยากลำบาก ที่ชาวบ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอนต้องเจอในชีวิตจริง ทั้งโรงพยาบาลที่อยู่ไกลจากบ้านพัก จนอาจทำให้เข้ารับการรักษาไม่ทัน หรือการขับรถเข้าไปในตัวเมือง เพื่อท่องเที่ยวในร้านสะดวกซื้อเล็ก ๆ ซึ่งนับเป็นสถานที่ให้ความบันเทิง และมีความเจริญมากแล้วสำหรับคนที่นั่น
แม้ว่าข้อเท็จจริงในส่วนนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าทีมงานมีการศึกษาข้อมูล และถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสื่อออกมาได้อย่างสมจริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกใช้สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ที่แม่ฮ่องสอน แต่คนในจังหวัดนั้นไม่มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ฟังดูตลกร้ายมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิมานหนามทำให้ประเด็นความยากไร้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถูกนำกลับมาพูดถึงอย่างมากในสังคม นอกจากตัวเลขจากรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวันแล้ว มูฟเมนต์นี้จึงถือเป็นความสำเร็จอีกมุมหนึ่งของหนังเรื่องนี้ด้วย
อ้างอิง : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ภาพจาก : Facebook เที่ยวแม่ฮ่องสอน , X, The Southeast Asia Movie Theater Project , โรงภาพยนตร์ในประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รีวิว “วิมานหนาม” สงครามช่วงชิงสิทธิ สะท้อนความไม่เท่าเทียมในสังคม
- เปิดวาร์ป ‘เก่ง หฤษฎ์’ นักแสดงดาวรุ่ง “วิมานหนาม” ดีกรีเทพบุตรยี่เป็ง
- รายได้ “วิมานหนาม” ทะยานสู่ 50 ล้าน คนประทับใจตอนจบ