ข่าว

ไขข้อสงสัย ถุงพลาสติกเข้าไมโครเวฟได้ไหม ผู้เชี่ยวชาญแนะ ใช้ยังไงให้ปลอดภัย

ผู้เชี่ยวชาญ เคลียร์ชัด ถุงพลาสติกสามารถเข้าไมโครเวฟได้ไหม ความจริงที่หลายคนเข้าใจผิด ควรหันมาใช้ให้ถูกวิธีเพื่อสุขภาพที่ดี

“ไมโครเวฟ” เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าสารพัดประโยชน์ ที่สามารถอุ่นอาหารทำเครื่องดื่มร้อน หรือละลายอาหารแช่แข็งได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ตั้งเวลาและปรับระดับความร้อนบนแผงควบคุมก็สามารถใช้งานได้ง่าย ๆ

แม้ว่าไมโครเวฟจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คุ้นเคย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รู้วิธีใช้งานอย่างถูกต้อง โดยหนึ่งในคำถามยอดฮิตที่หลายคนสงสัยและสอบถามกันในเว็บบอร์ดต่างประเทศคือ “ถุงพลาสติกสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้หรือไม่”

ล่าสุด จินนี่ นิโคลส์ (Ginny Nichols) ศาสตราจารย์ผู้มากประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกนสเตต ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาเตือนว่า ไม่ควรนำถูกพลาสติกใส่เข้าไปในไมโครเวฟที่มีอุณหภูมิสูงอย่างเด็ดขาด โดยปกติแล้วถุงพลาสติกทำมาจากพลาสติกที่ไม่ปลอดภัยมากนัก เมื่อสัมผัสกับอุณหภูมิสูง อาจปล่อยไมโครพลาสติกซึ่งมีสารเคมีที่เรียกว่า BPA ทำให้สารเหล่านี้ปนเปื้อนในอาหาร นอกจากจะลดคุณภาพของอาหารแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย

ถุงพลาสติกควรใส่อาหารร้อนหรือไม่

พลาสติกเป็นภัยเงียบที่หลายคนมองข้าม บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพลาสติกมีสาร BPA ผสมอยู่ โดย BPA (Bisphenol A) คือ สารเคมีชนิดหนึ่งในโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate – Plastic) ไว้ใช้ผลิตพลาสติก ให้มีความแข็งแรง ทนทาน เมื่อสารเคมีดังกล่าวเจอกับความร้อนแล้ว อาจส่งผลทำให้ผู้ที่สัมผัสเกิดการระคายเคือง มีอาการคัน และบวมแดงได้ และหากสูดดมหรือเผลอทานเข้าไปก็มีผลต่อระบบหายใจ และระบบทางเดินทางอาหาร อาจทำให้เวียนหัวและคลื่นไส้อาเจียน

อย่างไรก็ตาม หลายคนเชื่อว่า การนำถุงพลาสติกเข้าไมโครเวฟในเวลาสั้น ๆ หรืออุณหภูมิต่ำนั้นไม่เป็นไร แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าไม่ควรนำถุงพลาสติกทุกชนิดเข้าไมโครเวฟ

ไมโครเวฟ

นอกจากถุงพลาสติกแล้ว ถุงกระดาษ ถุงพลาสติกแบบมีซิปล็อก กล่องโฟม กล่องกระดาษแบบใช้ครั้งเดียว และฟอยล์ ไม่ควรนำเข้าไมโครเวฟเช่นกัน เพราะอาจทำให้เกิดไฟไหม้หรือเกิดระเบิดขณะใช้งานไมโครเวฟได้

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่จะนำพลาสติกแรป ฟิล์มใสถนอมอาหาร หรือภาชนะพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหาร เข้าไมโครเวฟ ควรตรวจสอบสัญลักษณ์หรือคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน หากผลิตภัณฑ์นั้นสามารถเข้าไมโครเวฟได้จะมีสัญลักษณ์รูปไมโครเวฟ เช่น “เบอร์ 5 PP” หรือ “BPA-free”

สัญลักษณ์พลาสติกที่ทนต่อความร้อนสูง

อย่างไรก็ตาม กล่องกระดาษหรือกล่องบางชนิดนั้นสามารถเข้าไมโครเวฟได้ แต่ยังไม่เป็นที่นิยมเพราะหายาก ทั้งนี้ จินนี่ นิโคลส์ เสริมว่า แม้กล่องกระดาษจะสามารถเข้าไมโครเวฟได้ แต่ยังคงมีข้อจำกัดเรื่องอุณหภูมิและระยะเวลาในการใช้งานอยู่ดี ฉะนั้นแล้วจึงไม่แนะนำให้ใช้เพราะอาจเกิดอันตรายกับร่างกายได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button