เกลียดใคร แนะนำให้เปิดร้านอาหาร 6 เดือน ขึ้นป้ายเซ้งระนาว เผยทางรอดเดียว
วิเคราะห์อนาคตธุรกิจร้านอาหารไทย หลังศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยตัวเลขติดลบมา 8 ปี และปีที่ 9 ไม่น่าต่างกัน ปัจจุบันผ่านมา 6 เดือน ธุรกิจร้านอาหารระส่ำหนัก คนเลือกกินเพื่อยังชีพพุ่ง แม่ค้า-พ่อขายแห่ขึ้นป้ายเซ้ง
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Bhanuwat Jittivuthikarn ได้โพสต์เนื้อหาร่ายยาววิเคราะห์อนาคตเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารในชั่วโมงนี้ ระบุถึงข้อมูลที่น่าสนใจจาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คือ ตัวเลขเฉลี่ยกำไรของธุรกิจร้าน อาหารแบบที่จดทะเบียนเสียภาษีนั้น ในไทยนั้นติดลบกันมา 8 ปี และปีนี้ก็น่าจะติดลบต่อเป็นปีที่ 9 ด้วย
แล้วเมื่อวานนี้ หลายๆ สำนักข่าว ก็ลงข่าว “สุดต้าน! 6 เดือน ธุรกิจร้านอาหารระส่ำหนัก คนเลือกกินเพื่อยังชีพพุ่ง ฉุดยอดขายร้านอาหารตก 30% แม่ค้า-พ่อขายแห่ขึ้นป้ายเซ้ง” โดยอ้างอิงข้อมูลจากนายกสมาคมภัตตาคารไทย
นั้นหมายความว่า เปิดร้านอาหาร ในประเทศไทย โอกาสที่จะทำกำไรนั้นน้อยมาก ยิ่งเป็น SME ร้านเล็ก ชายอาหารตามสั่ง ร้านกาแฟเล็กๆ โอกาสรอดในสามปีแรกนั้น น่าจะมีผู้รอดไม่ถึง 30%
แล้วทำไม คนยังอยากเปิดร้านอาหารกัน ? เพราะการได้เป็นนายตัวเอง ไม่ต้องทนรับแรงกดดันจากใคร ในประเทศที่มนุษย์เงินเดือนแทบจะไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก มันก็เป็นความฝันในชีวิตของคนอีกหลายๆคน ดังนั้นตลาดร้านอาหารก็จะมีคนใหม่ที่พร้อมจะเสี่ยงดวงมาเปิดร้านใหม่อยู่เสมอ
สอดคล้องกับข้อมูลอีกด้านของไทยพีบีเอส บอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีร้านอาหารต่อจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก คือ ในประเทศเรามีร้านอาหารถึง 9.6 ร้านต่อประชากร 1000 คน หรือจะมองแบบกลม ร้านอาหาร 1 ร้านต่อลูกค้า 100 คน ก็ได้ และจำนวนร้านอาหารเปิดใหม่ ยังเพิ่มขึ้น ระดับ 13% ต่อปีอีกด้วย จะกลัวอะไร ปิดเยอะ ก็เปิดใหม่เยอะ
ใช่ครับ ไม่ต้องกลัวว่า ประเทศไทยจะขาดแคลนร้านอาหาร ปัญหาของวงการร้านอาหารในวันนี้คือความยั่งยืนในธุรกิจ ที่ วงจรชีวิตมันสั่นลงเรื่อยๆ แล้วที่เปิดใหม่ก็มีแนวโน้มว่า อีก 50% จะไปไม่รอด ภายในระยะเวลา 1 ปี แล้วก็จะมีจำนวนตัวเลขคนปล่อยเช้งร้านเยอะขึ้นอีกในอนาคต วนลูปกันเป็นหลุมดำแบบนี้ ร้านอาหารไม่ใช่ธุรกิจที่ยั่งยืน แต่เป็นธุรกิจที่ต้องเข้าให้เร็ว โกยให้เร็วแล้วรีบหนีออกจากตลาด
แนวคิดแบบนี้ มันเป็นระบบทุนนิยมที่บ้าบอ และกำลังทำลาย วงจรธุรกิจร้านอาหารไทย ทั้งระบบ คือมันเป็นนิสัยหนึ่งของคนประเทศเราด้วย คือเวลา มีสินค้าตัวไหนขายดีเป็นกระแส ฉันก็พร้อมที่จะลองเสี่ยงดวงขายบ้าง ทั้งๆ ที่คุณไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในพื้นฐานของสนค้านั้นๆ เลย
พอคนขายเยอะและกระแสหมด ก็เกิดปัญหา oversupply แล้วก็เริ่มเปิดเกมส์ทุบตลาดตัดราคาขายเอาตัวรอดกันทันที สุดท้ายจบลงที่ตลาดแตกตลาดวาย คนเลิกกินเพราะเน้นแต่ขายถูกแต่คุณภาพไม่มี แล้วก็จบลงด้วยการขาดทุน ไม่ว่าจะเป็น สามปีก่อนที่ครัวซองต์ดังระเบิด เคยยมีคนกล้าซื้อเตาอบครัวซองต์หลักล้านมาขิงใส่กัน
หรือปีที่แล้วกับชาบูสายพานที่มีคนนำเข้าเครื่องสายพานกันมาหลักแสนตอนนี้มือสองขายกันที่สองหมื่น หรือ ชานมไข่มุกพ่นไฟ ที่เคยมีร้านกันครบทุกสิงสาราสัตว์ หมีพ่นไฟ หมาพ่นไฟ อะไรพ่นไฟได้ก็เอามาขายหมด มีกันทุกหน้าหมู่บ้าน ในวันนี้เหลือรอดกันกี่เจ้า ?
ทุกกระแสมันจบลงที่การเจ็บตัวของรายเล็กรายย่อยที่โดนภาพลวงตาหลอกมาเข้าตลาดเสมอ ส่วนคนที่ เป็นคนปั่นกระแสนั้นโกยได้แล้วปิดเกมส์หนีออกจากตลาดกันไปนานแล้ว วิธีการทำธุรกิจแบบนี้ มันคือการเป่าฟองสบู่ลูกใหญ่ๆ ที่รอวันระเปิด
แล้วในวันนี้ ในวันที่ กำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนตัว กระแสเงินสดขาดมือ ต้นทุนมีราคาสูงขึ้น ร้านอาหาร SME ที่มีหนี้ หมุนเงินไม่ทัน ทุนจม กำลังล้มกันแบบโดมิโน่
กำไรไม่มี ทุนก็หมด จะขยับอะไรมันก็ยากไปหมด จะทำกระแสอะไร คนก็ไม่มีเงินมาซื้อ ในเวลานี้
ถ้าร้านคุณไม่มีฐานลูกค้าประจำ บอกเลยครับ ปีนี้รอดยาก
ต่อมา ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล แชร์โพสต์ดังกล่าว พร้อมกับแสดงความเห็นเสริมด้วยว่า “ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ barrier to entry ต่ำ คนนึกอะไรไม่ออกก็มักจะเปิดร้านอาหาร ตามสั่งบ้าง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกงบ้าง ร้านชานม กาแฟบ้าง ร้านอาหารเลยเต็มไปหมด หลายร้านก็ดิ้นรนทำตลาดผ่านสื่อ กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญของวงการบันเทิงในปัจจุบัน ที่ดาราพิธีกรผันตัวเองมาทำรายการรีวิวอาหารกันเป็นล่ำเป็นสัน ไม่รวมคนทั่วไปที่หันมาเป็นอินฟลูรีวิวร้าน รีวิวเมนูต่าง ๆ เต็ม Tiktok”
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- พิษเศรษฐกิจ ร้านบุฟเฟต์ดัง Easy Grill ปิดกิจการ เสียดายร้านอาหารคุณภาพ
- ไปไม่ต่อไม่ไหว ร้านบุฟเฟ่ต์ซีฟู้ดชื่อดัง ประกาศปิดกิจการ วันสุดท้าย 20 ส.ค.
- Daidomon ประกาศปิดสาขาสุดท้าย 5 ส.ค. ปิดตำนานปิ้งย่าง 41 ปี