บันเทิงไลฟ์สไตล์

เนื้อเพลง เรือนแพ อมตะลูกกรุงที่เกิดจาก ความหิว และกาแฟ

เปิดเนื้อร้อง ประวัติและที่มาของเพลงเรือนแพ ที่ได้รับไอเดียเนื้อร้องมาจากการกินกาแฟ พร้อมเหตุผลว่าทำไมเพลงนี้จึงเป็นบทเพลงอมตะทุกยุคสมัย

วงการเพลงไทยโศกเศร้าอีกครั้ง กับการจากไปของศิลปินแห่งชาติผู้เป็นดั่งเพชรน้ำงาม “ชรินทร์ นันทนาคร” ขอเชิญทุกท่านร่วมรำลึกถึงน้ำเสียงอันไพเราะและทรงพลังของท่าน ผ่านบทเพลงลูกกรุงอมตะ “เรือนแพ” ที่จะพาเราดำดิ่งสู่ห้วงอารมณ์แห่งความรักและความทรงจำอันงดงาม

เนื้อเพลงเรือนแพ

“เรือนแพ สุขจริง อิงกระแสธารา

หริ่งระงมลมพลิ้วมา กล่อมพฤกษา ดั่งว่าดนตรี

หลับอยู่ในความรัก รับความชื่น ชั่ววันและคืนเช่นนี้

กลิ่นดอกไม้รัญจวน ยังอบอวนยวนยี สุดที่จะพรรณนา

เรือนแพ ล่องลอย คอยความรักนานมา

คอยน้ำค้างกรุณา หยาดมา จากดาราแหล่งสวรรค์

วิมานน้อย ลอยริมฝั่ง ถึงอ้างว้างเหลือใจรำพัน

หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน ชีวิตกลางน้ำสุขสันต์ โอ้สวรรค์ ในเรือนแพ”

ย้อนตำนานความรัก ชรินทร์-เพชรา

เรื่องเล่าขำขัน เพลงที่มาจากความหิวและกาแฟ

เสด็จองค์ชายใหญ่ ภาณุพันธุ์ยุคล แห่งอัศวินภาพยนตร์ กำลังปลุกปั้นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “เรือนแพ” ที่ได้สองพระเอกดัง ส.อาสนจินดา และ ไชยา สุริยัน มาประกบคู่ดาราฮ่องกง จินฟง และ มิสมาเรีย จาง งานนี้ต้องอลังการ เพลงเอกก็ต้องไม่ธรรมดา พระองค์เลยรับสั่งให้ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร มาช่วยแต่งทำนองเพลง “เรือนแพ” ถึงบริษัท แถมยังมีแบบจำลองเรือนแพมาให้ดูเป็นแรงบันดาลใจอีกต่างหาก

ครูแจ๋วฮัมเพลงไปพลาง มองเรือนแพจำลองไปพลาง จนได้ทำนองเพลงถูกใจเสด็จองค์ชายใหญ่ แต่ติดตรงที่ยังไม่มีเนื้อร้อง ครูแจ๋วเลยรีบชวนครูชาลี อินทรวิจิตร นักแต่งเพลงฝีมือดี มาร่วมทีม ณ บริษัทอัศวิน

ครูชาลีมาถึงก็ได้กาแฟหนึ่งถ้วยปลุกพลัง ส่วนครูแจ๋วขอเติมไฟด้วยสุราและกับแกล้ม งานนี้ต้องใช้พลังสร้างสรรค์เยอะหน่อย! ทั้งคู่เริ่มแต่งเพลงกันตอนดึก ครูแจ๋วบรรเลงเปียโน ครูชาลีร่ายมนตร์ด้วยถ้อยคำ จนได้ท่อนแรกถูกใจเสด็จองค์ชายใหญ่ซะเหลือเกิน โดยเฉพาะท่อน “หลับอยู่ในความรัก” ที่พระองค์ชมว่าเพราะกว่า “หลับอยู่ในความฝัน” เสียอีก

แต่เมื่อแต่งท่อนที่สองเสร็จ ตอนนั้นก็ปาเข้าไปค่อนคืนแล้ว เสด็จองค์ชายใหญ่ทอดพระเนตรเนื้อร้องแล้วส่ายพระเศียร ไม่ปลื้มท่อน “ทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกัน ชีวิตกลางน้ำสุขสันต์ ..” บอกว่ามันเรียบง่ายเกินไป ครูชาลีได้ยินดังนั้นก็หิวขึ้นมาทันที ตั้งแต่เย็นยันดึก ได้แค่กาแฟแก้วเดียว! เลยแก้ไขเนื้อเพลงเป็น “หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน” ซะเลย งานนี้ขอประชดหน่อยแล้วกัน ส่งงานเสร็จ ครูชาลีก็ขอตัวกลับบ้านไปหาอะไรกิน

เช้าวันรุ่งขึ้น เสด็จองค์ชายใหญ่เห็นเนื้อเพลงท่อนใหม่ถึงกับทรงพระสรวล ชอบใจมาก สั่งให้ครูแจ๋วรีบเรียกวงดนตรีมาอัดเพลง วางตัวคุณชรินทร์ นันทนาคร เป็นผู้ถ่ายทอดอารมณ์เพลง “เรือนแพ” บันทึกเสียงกันวันนั้นเลย

เครื่องเล่นแผ่นเสียงวินเทจ

ทำไมเรือนแพ ถึงเป็นเพลงอมตะครองใจคน

ชรินทร์ นันทนานคร ได้ขับร้องเพลงนี้ไว้เมื่อ พ.ศ. 2504 “เรือนแพ” นับได้ว่าเป็นเพลงลูกกรุงอมตะที่ครองใจคนฟังตลอดมา ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ เพลงนี้แต่งขึ้นโดยครูชาลี อินทรวิจิตร บทเพลงนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2503 เพื่อประกอบภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและยังคงตราตรึงอยู่ในใจผู้ฟังมาจนถึงทุกวันนี้

เพลง “เรือนแพ” ถ่ายทอดเรื่องราวความรักอันบริสุทธิ์ของหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่ริมน้ำ เนื้อหาเพลงเปรียบเปรยความรักของพวกเขาเหมือนกับเรือนแพที่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ มีทั้งช่วงเวลาที่สุขสงบและช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับคลื่นลม แต่ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคใด ความรักของพวกเขาก็ยังคงมั่นคงและไม่เปลี่ยนแปลง จุดนี้ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับบทเพลงได้ ทั้งยังสามารถจินตนาการภาพตาม จากการพรรณาความรัก และบรรยากาศรอบข้างด้วยภาาษาที่สวยงาม ร่วมกับคำเปรียบเปรยยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

เพลงนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนริมน้ำ ที่ผูกพันกับสายน้ำและเรือนแพ ภาพนี้เป็นการสะท้อนวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อนที่ผู้คนมีความผูกพันธ์กับสายน้ำ เชื่อมโยงอารณ์ผู้ฟังกับสถานที่ที่มีอยู่จริง

อีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมเพลงนี้จึงเป็นบทเพลงอมตะ คือเพลงลูกกรุง ลูกกรุงเป็นเพลงไทยสากลที่มีความนิยม ในช่วง พ.ศ. 2480 -2500 ซึ่งมีลักษณะเด่นคือท่วงทำนองมีความไพเราะ อ่อนหวาน เน้นถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอย่างละเอียดอ่อน และชรินทร์ได้ถ่ายทอดออกมาด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะนุ่มนวล และมีเทคนิคการร้องที่เป็นเอกลักษณ์ พอเป็นเพลงประกอบละครที่เป็นชื่อเดียวกันแล้วจึงเป็นที่จดจำจากรุ่นสู่รุ่น

ชรินทร์ ในวัยหนุ่ม
ภาพจาก: ดาราภาพยนตร์

บทเพลงอมตะอื่น ๆ ของชรินทร์ ศิลปินแห่งชาติ

นอกจากเพลงเรือนแพแล้ว ยังมีเพลงดังที่ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ มีเพลงเด่น ๆ 10 เพลงได้แก่

– ผู้ชนะสิบทิศ แต่งโดย ไสล ไกรเลิศ ได้รับแรงบันดาลใจขณะอ่านหนังสือริมแม่น้ำเจ้าพระยา

– ทาสเทวี แต่งโดย สง่า อารัมภีร์ เล่าเรื่องราวความรักต่างชนชั้นของชรินทร์กับ สปัน เธียรประสิทธิ์

– ที่รัก แต่งโดย สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษ

– ทุ่งรวงทอง เพลงเอกในภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน โดดเด่นด้วยคำร้องที่งดงามและเปรียบเปรยคมคาย

– สาวนครชัยศรี แต่งโดย ชาลี อินทรวิจิตร ให้กับภรรยาของเขา และใส่คำขวัญอำเภอนครชัยศรีไว้ในเพลง

– ไกลบ้าน แต่งโดย ชาลี อินทรวิจิตร เพื่อให้ชรินทร์ร้องให้คนไทยในต่างแดนฟัง

แสนแสบ แต่งโดย ชาลี อินทรวิจิตร ได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายชื่อเดียวกัน

– เรือนแพ แต่งโดย ชาลี อินทรวิจิตร และ สมาน กาญจนะผลิน เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน

– ท่าฉลอม แต่งโดย ชาลี อินทรวิจิตร เล่าเรื่องราวความรักของหนุ่มชาวประมงกับสาวมหาชัย

– หยาดเพชร แต่งโดย ชาลี อินทรวิจิตร และ สมาน กาญจนะผลิน เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ “เงิน เงิน เงิน”

บทเพลงเหล่านี้เป็นตัวแทนความงดงามของเพลงลูกกรุง และเป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านบทเพลงของชรินทร์ นันทนาคร ที่จะอยู่ในความทรงจำของคนไทยตลอดไป

เพลงเรือนแพ ชมคลิป

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

Tad Yungton

จบการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร นักเขียนสายมูเตลู และนักอ่านไพ่ทาโรต์ โหราศาสตร์ มีความสนใจด้านข่าวการเมือง ศิลปะวัฒนธรรม แฟชั่น และสายดูดวงมูเตลู งานเขียนเน้นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย อ่านสนุก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button