ประวัติ “ภูมิธรรม เวชยชัย” นั่งเก้าอี้นายกฯ ผู้รักษาการแทน เศรษฐา ทวีสิน
ส่องประวัติ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รับไม้ต่อ ขึ้นรักษาการนายกรัฐมนตรีแทน เศรษฐา ทวีสิน หลังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยปมตั้งพิชิต ทำสิ้นสภาพทั้งคณะ
นายกคนต่อไป จะเป็นใครนาทีนี้ ฉากทัศน์ทางการเมืองดังกล่าวอาจยังไม่ชัดเจนนัก แต่หากจับตาสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อของ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. กระทรวงพาณิชย์ กำลังโผล่ขึ้นมาเป็นตัวชูโรง คล้ายมวยแทนในสังเวียนรัฐสภา ภารกิจรับไม้ต่อในฐานะรักษาการเก้าอี้นายกฯ เป็นการชั่วคราว
“เด็กสิงห์ดำ” อดีตคนเดือนตุลา สู่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
“อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย เกิดวันที่ 5 ธ.ค. 2496 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนทวีธาภิเศกในปี 2518 จากนั้นเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2527
นอกจากนี้ยังผ่านหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาและการวิจัยระดับสูงของกระทรวงกลาโหม
ต่อมาได้รับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ประจำสำนักประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือชินวัตร ในปี 2540 – 2541
จากนั้นเริ่มต้นเส้นทางการเมืองในปี 2544 จากการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะทำงานสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ก่อนขึ้นเป็นเลขานุการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
หลังสั่งสมประสบการณ์การทำงานมาได้ระยะหนึ่ง ได้รับความไว้วางใจให้เป็น “รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย”
ปี 2548 ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ได้มีการเสนอพระราชกฤษฎีกาต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการยุบเลิกองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเงิน มีหนี้สินสะสมสูงถึง 1,800 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากมีชื่อเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย
ชีวิตหลังถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี
ต่อมาในปี 2555 หลังได้รับโทษเสร็จสิ้น “อ้วน ภูมิธรรม” หรือที่หลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่ธรรมศาสตร์ ได้รับชื่อจัดตั้งว่า “สหายใหญ่” ก็มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรค เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555
ต่อมาในปี 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แต่เส้นทางการเมืองของเจ้าตัวไม่ได้ราบรื่น เนื่องจากในปี 2562 แกนนำระดับมันสมองรายนี้ได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ แต่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเนื่องจากพรรคเพื่อไทย มีจำนวนสมาชิกสส. มากกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ภูมิธรรมพลาดโอกาสการดำรงตำแหน่งครั้งนั้นไปอย่างน่าเสียดาย
อย่างไรก็ดี ภูมิธรรมกลับมาแก้มืออีกครั้ง โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองนายกฯ และรมว. กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 รับหน้าที่ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ จากนั้นเมื่อต้นปีควบตำแหน่งประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการใช้จ่ายของหน่วยงานต่าง ๆ
เปิด 2 เลือก แกนนำมันสมอง เดินหน้าโหวตนายก หรือ” ยุบสภา”
ถึงตรงนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าอดีตคนเดือนตุลาที่มีอุดมการณ์ นักอาสาพัฒนาสังคม เอ็นจีโอผู้ได้รับความเชื่อถือ กระทั่งเส้นทางการเมืองผลักให้มาเป็นมือขวาระดับมันสมองของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร
กิตศัพท์ที่ยกมา นับเป็นบทพิสูจน์ชั้นดีกับภารกิจรักษาการนายกฯ ที่แม้จะเป็นบทบาทชั่วคราวในการเดินหน้าคลี่คลายสถานการณ์การเมืองที่ต้องลุ้นว่าจะ “ยุบสภา” หรือจะอาศัยกลไกลรัฐสภา เดินหน้าโหวตนายกคนที่ 31 ของประเทศ และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน มีรายงาน ภูมิธรรม ซึ่งกำลังปฏิบัติราชการอยู่ที่คาซัคสถาน ทราบถึงมติคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่นายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติและส่งผลให้ ครม. พ้นสภาพทั้งคณะแล้ว และล่าสุดได้ยกเลิกภารกิจในช่วงบ่ายวันที่ 14 ส.ค. ทันที พร้อมกำหนดบินกลับประเทศไทยเเป็นการด่วน จากเดิมที่กำหนดกลับไทยในวันที่ 18 ส.ค. 2567.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง