16 ส.ค. คนกรุงไร้เงา ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพฯ ครั้งที่สองของปี 67

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ประกาศ วันไร้เงา ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์โคจรตั้งฉากกับกรุงเทพมหานคร จะเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองของปีในวันที่ 16 สิงหาคม 2567
ในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 ช่วงเวลาประมาณ 12.22 น. ดวงอาทิตย์จะโคจรอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งนับเป็นการเกิดปรากฏการณ์ครั้งที่สองของปี
วันที่ 14 สิงหาคม 2567 เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติดังกล่าวส่งผลให้วัตถุที่อยู่กลางแดดจะดูเสมือน “ไร้เงา” เนื่องจากเงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดี ซึ่งอาจจะไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุด เหตุเพราะอากาศร้อนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
สำหรับดวงอาทิตย์ตั้งฉากครั้งที่ 2 ของปีนี้ ดวงอาทิตย์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับประเทศไทย เริ่มจากบริเวณเหนือสุดของประเทศ ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา จากนั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ขยับมาตั้งฉากกับพื้นที่ใต้ลงไปเรื่อย ๆ และจะตั้งฉากกับพื้นที่ใต้สุดของประเทศไทย ณ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ในวันที่ 7 กันยายน 2567

รู้จัก ‘ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก’ คืออะไร?
“ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก” เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นทุกปี และสามารถคำนวณได้ล่วงหน้า การคำนวณหาวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นที่ต่าง ๆ บนโลก จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งพิกัดละติจูด-ลองจิจูดของแต่ละพื้นที่ สำหรับพื้นที่ประเทศไทย จะคำนวณวันที่เกิดปรากฏการณ์ โดยอ้างอิงพิกัดจากอำเภอเมืองของจังหวัดนั้น ๆ เป็นหลัก
ลำดับต่อมา คือ การหาเดือน และวันที่ที่ค่าพิกัด (declination) ของดวงอาทิตย์ ตรงหรือใกล้เคียงกับละติจูดของพื้นที่นั้น ๆ พร้อมหาค่ามุมเงยของดวงอาทิตย์ขณะเคลื่อนที่ผ่านแนวลองจิจูด วันที่ดวงอาทิตย์มีมุมเงยสูงที่สุด หรือใกล้เคียงกับตำแหน่งจุดเหนือศีรษะ (90 องศา) มากที่สุด จึงเท่ากับว่าวันนั้นเป็นวันที่มีปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก สังเกตได้จากเงาของวัตถุจะอยู่ตกอยู่ใต้วัตถุในระนาบเดียวกันพอดี
สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ก็อาจเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากได้ถึงสองวัน นอกจากนี้ หากใช้ตำแหน่งพิกัดอ้างอิงที่ต่างกัน ก็อาจส่งผลต่อการกำหนดวันที่เกิดปรากฏการณ์ด้วยเช่นกัน
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ระหว่างละติจูด 5-20 องศาเหนือ ส่งผลให้ในหนึ่งปี ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะ หรือตั้งฉากกับพื้นที่ดังกล่าวถึง 2 ครั้ง โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับกรุงเทพมหานคร ปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม และ ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของทุกปี
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก ครั้งที่ 2 ของทั้ง 77 จังหวัดในประเทศไทย เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ NARIT

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก 26 เม.ย. คนกรุงเทพฯ เจอครั้งแรก ปี 67 ไร้เงาทั้งแผ่นดิน
- ตอบชัด “เที่ยงนี้ไร้เงา” ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพ ลุ้นร้อนที่สุดของปี
- เตือนด่วน อย่าพิสูจน์ ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพ ค่าดัชนีความร้อนพุ่ง 52 องศา