กำหนดการพิธีบูชาวันวาราลักษมี วรัทตัม 16 สิงหาคม 2567 ใครสามารถเข้าร่วมพิธีได้บ้าง เปิดตำนานและความหมายพิธีกรรมสำคัญของชาวอินเดียใต้ สะท้อนความเชื่อทางศาสนาที่ส่งผลต่อบทบาทสตรี
อิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียใต้ได้ซึมซับเข้าสู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องพระแม่ลักษมี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งและความสุข สังเกตได้จากความนิยมในการบูชาพระแม่ลักษมีที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้หญิงและบุคคลในชุมชน LGBTQIA+ ที่มองเห็นพระแม่ลักษมีเป็นทั้งที่พึ่งทางใจและเป็นตัวแทนของความสวยงาม ความอ่อนโยน ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมและความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน
ผู้ศรัทธาชาวไทยสามารถร่วมพิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาวาราห์ลักษมีเทวี (Vara Lakshmi Vratham Bhooja)
ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567
- พิธีบูชาเช้า: เริ่มเวลา 09.30 น.
- พิธีบูชาเย็น: เริ่มเวลา 17.30 น.
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : Hindu Meeting (Fan Page)
เจาะรากศัพท์ ความหมาย วาราลักษมี วรัทตัม
Varakakshmi Vratham “วาราลักษมี” มาจากคำภาษาสันสกฤต 2 คำ โดย “วารา” หมายถึง พร และ “ลักษมี” หมายถึง ความมั่งคั่ง
วาราลักษมี วรัทตัม เป็นเทศกาลสำคัญที่ชาวฮินดูในหลายรัฐของอินเดียให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในรัฐทมิฬนาฑู กรณาฏกะ อานธรประเทศ อุตตรประเทศ และมหาราษฏระ เทศกาลนี้จัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และในปีนี้ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2567
วาราลักษมี วรัทตัม เป็นการบูชาเทพีลักษมี พระมเหสีของพระวิษณุ ซึ่งเป็นเทพีแห่งความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง โดยเชื่อกันว่าเทพีวาราลักษมีประทานพรและความสุขแก่ผู้ที่บูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมักจะถือศีลอดและอธิษฐานขอพรเพื่อความสุขของครอบครัวและสามี คำว่า “วารา” หมายถึง บุญ หรือพร ซึ่งเป็นสิ่งที่เทพีลักษมีประทานให้แก่ผู้ศรัทธา
เทพีวาราลักษมีมีลักษณะเด่นคือผิวสีขาวนวลเหมือนมหาสมุทร และมักปรากฏในรูปของเทพีมหาลักษมี โดยมีตำนานเล่าว่าเทพีวาราลักษมีได้ถือกำเนิดขึ้นจากการกวนเกษียรสมุทร หรือมหาสมุทรแห่งนม
เจาะลึกแก่นแท้ ของการบูชา สู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง
ในวัฒนธรรมอินเดีย วาราลักษมี วรัทตัม นับเป็นพิธีกรรมสำคัญที่สตรีที่แต่งงานแล้วให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยจัดขึ้นในวันศุกร์ก่อนวันเพ็ญเดือนในเดือนศราวณะ (ตรงกับเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) ตามปฏิทินจันทรคติของชาวฮินดู พิธีกรรมนี้เป็นการบูชาเทพีวาราลักษมี ซึ่งเป็นอีกอวตารหนึ่งของเทพีลักษมี โดยเชื่อกันว่าเทพีวาราลักษมีเป็นสัญลักษณ์ของพลังงานอันศักดิ์สิทธิ์ 8 ประการที่คอยดูแลชีวิตของมนุษย์ ได้แก่ สุขภาพ ความมั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรือง ปัญญา ความอุดมสมบูรณ์ ความกล้าหาญ ชัยชนะ และการศึกษา พลังงานเหล่านี้ถูกเรียกว่า “ลักษมี” และมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของทั้งปัจเจกบุคคลและในชุมชน
การทำพิธีวาราลักษมี วรัทตัม จึงเป็นการขอพรให้ได้รับพลังงานอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มาประสิทธิประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัว ทำให้ชีวิตมีความสุข สมบูรณ์ และเจริญรุ่งเรือง สำหรับผู้หญิงอินเดียที่กำลังมองหาคู่ชีวิต แพลตฟอร์มจัดหาคู่ เช่น Nithra Matrimony ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้ผู้คนได้พบเจอกันบนพื้นฐานของความเชื่อและค่านิยมร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของพิธีกรรมนี้
การเตรียมงานบูชาพระลักษมีนั้นต้องใช้เวลาเตรียมการล่วงหน้า โดยผู้หญิงจะทำความสะอาดบ้านอย่างพิถีพิถัน จัดมุมบูชาให้สวยงาม และประดับตกแต่งรูปเคารพของพระลักษมีด้วยเครื่องประดับและดอกไม้หลากสีสัน พิธีกรรมสำคัญอย่างหนึ่งคือการสร้าง “คาลาแชม” หรือหม้อศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระลักษมี โดยภายในบรรจุข้าวหรือน้ำ ราดด้วยใบมะพร้าวและผ้าสีสวย เชื่อกันว่าการจัดเตรียมคาลาแชมนี้จะดึงดูดให้พระลักษมีมาประทับ
ในวันบูชา ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะถือศีลอดตั้งแต่เช้าจรดเย็น เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระลักษมี พิธีกรรมประกอบไปด้วยการสวดมนต์ ถวายเครื่องสังเฆทาน เช่น ผลไม้ ขนมหวาน และดอกไม้ นอกจากนี้ ยังมีการจัดเตรียมอาหารอร่อยๆ เพื่อเลี้ยงครอบครัวและเพื่อนบ้าน การบูชาพระลักษมีจึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้หญิงจะได้มาพบปะสังสรรค์กัน สร้างความสัมพันธ์อันดีในชุมชน และร่วมกันสืบทอดประเพณีอันดีงามนี้ต่อไป
พิธีบูชาพระลักษมี นอกจากจะเป็นการขอพรเรื่องความร่ำรวยแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงเป็นรากฐานสำคัญของครอบครัว การที่ภรรยาทำพิธีบูชาพระลักษมีนั้น เปรียบเสมือนการขอพรให้ครอบครัวมีความสุข สมหวัง และเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอพรให้มีคุณสมบัติที่ดีงามตามแบบอย่างของพระแม่ลักษมี เช่น ความเมตตา กรุณา และความสามารถในการดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น ทำให้ครอบครัวอบอุ่นและมีความสุข
เด็กสาวที่ยังไม่แต่งงาน (ซึ่งอนุมานได้ถึงคนที่ยังไม่แต่งงาน) สามารถขอพรเพื่อการมีคู่ครองได้ ด้วยการร่วมถือวรัต ร่วมบูชา และฟังเรื่องราวของวรัตได้
พร 8 ประการสู่ชีวิตสมบูรณ์แบบ ตามความเชื่อของชาวฮินดู
การเข้าร่วม พิธีบูชาพระลักษมี นับเป็นการแสดงความเคารพต่อพระแม่ลักษมีในทุก ๆ พระนามและพระลักษณะของพระองค์ พิธีกรรมนี้เชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่าง ๆ ดังนี้
Dhanam ประทานความร่ำรวย ช่วยให้ชีวิตมีความมั่นคงทางการเงิน มีเงินมีทองใช้ไม่ขาดมือ
Dhanyam ประทานความอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีอาหารบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ และมีความสุขสบายในชีวิต
Arokyam ประทานสุขภาพแข็งแรง ปกป้องคุ้มครองให้ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
Sampath ประทานความมั่งคั่ง นำพาความมั่งคั่งและทรัพย์สินมาให้
Santhanam ประทานบุตรธิดาที่ดี มีบุตรธิดาที่สุขภาพแข็งแรง มีคุณธรรม จริยธรรม
Deerka Sumangala Bakkyam ประทานครองคู่ที่ยืนยาว: ทำให้ชีวิตคู่มีความสุข สมหวัง และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
Veeram ประทานความกล้าหาญ: เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางใจ ให้สามารถเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่าง ๆ ได้
Gaja Lakshmi ประทานความปลอดหนี้สิน ช่วยให้พ้นจากภาระหนี้สิน และมีความเป็นอยู่ที่สบาย
การสะท้อนค่านิยมและบทบาทของสตรี
น่าสนใจที่พิธีกรรมวรลักษมีวรัทตัมนั้นดูเหมือนจะถูกออกแบบมาเพื่อสตรีที่อยู่ในช่วงชีวิตหนึ่งของฮินดูโดยเฉพาะ นั่นคือช่วงคฤหัสถะ หรือช่วงชีวิตของการครองเรือน ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องอาศรมทั้ง 4 ของชีวิตคนฮินดูที่แบ่งเป็นช่วงๆ อย่างชัดเจน ประกอบด้วยพรหมจรรยะ (ผู้เรียน), คฤหัสถะ (ผู้ครองเรือน), วานปรัสถะ (ผู้ออกจาริก) และ สันยาสะ (ผู้ละทิ้งทางโลก) การขอพรเพื่อคู่ครองของเด็กสาวที่ยังไม่แต่งงานจึงดูเหมือนจะเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่บทบาทของภรรยาในอนาคต
หากมองลึกลงไป เราจะพบว่าพิธีกรรมนี้สะท้องถึงความเชื่อเรื่องบทบาททางเพศที่ค่อนข้างตายตัวในสังคมฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสตรีที่ถูกคาดหวังให้เป็นผู้ช่วยเหลือและสนับสนุนสามีในทุกด้าน อย่างไรก็ตาม เราอาจตีความวรลักษมีวรัทตัมได้หลากหลายมุมมอง นอกจากจะเป็นการขอพรเพื่อความสุขในชีวิตครอบครัวแล้ว ยังอาจเป็นการเฉลิมฉลองพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์และความมั่งคั่งของสตรีอีกด้วย ดังนั้น การตีความพิธีกรรมนี้จึงขึ้นอยู่กับมุมมองและบริบททางสังคมของแต่ละบุคคล
ชมวีดีโอการจัดเตรียมบูชาวาราลักษมี วรัทตัม ของแม่บ้านชาวอินเดีย
อ้างอิง: drikpanchang.com, rudraksha-ratna.com, bankbazaar.com, nithramatrimony.net, Hindu Meeting (Fan Page)
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
- บทสวดบูชาพระแม่ลักษมี กล่าวสักการะ สมหวังทั้งเรื่องงาน-เรียน-รัก
- บูชาพระแม่ลักษมี ข้อห้าม 2 สิ่งสำคัญ แนะนำวิธีการไหว้ที่บ้าน รักปังงานดี
- ตำนาน พระอลักษมี เทวีแห่งโชคร้าย แฝดพี่พระลักษมี