กรมอนามัยเตือน ดื่ม ‘ชานมหวาน’ ทุกวัน เสี่ยงนิ่วในไต ยิ่งหวานยิ่งต้องระวัง
สายหวานต้องฟัง กรมอนามัยเตือนภัยสุขภาพ ดื่ม ‘ชาเย็น-ชานม’ ทุกวัน เสี่ยงป่วยเป็นนิ่วในไต เพราะนอกจากน้ำตาลจะสูง ยังเต็มไปด้วยสารอาหารเร่งนิ่วด้วย
‘ชาเย็น’ และ ‘ชานม’ ถือเป็นเครื่องดื่มคลายร้อนที่คนไทยชื่นชอบ ด้วยรสชาติที่หอมหวาน กลมกล่อม และสีสันที่สวยงาม ทำให้ชาเย็นเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย แต่เบื้องหลังความอร่อยนี้กลับแฝงไปด้วยภัยเงียบที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพจเฟซบุ๊ก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาโพสต์เตือนภัยสุขภาพแก่ผู้ที่ดื่มชานม-ชาเย็น เป็นประจำทุกวัน เหตุเพราะพฤติกรรมการรับประทานที่เสี่ยงให้เป็น “โรคนิ่วในไต” ซึ่งโรคนี้เกิดจากการตกผลึกของแร่ธาตุต่าง ๆ ในปัสสาวะ จนรวมตัวกันเป็นก้อนแข็ง ๆ มีขนาดตั้งแต่เม็ดทรายยันลูกปิงปอง และบรรดาก้อนเหล่านี้ก็จะไปอุดตันทางเดินปัสสาวะ ทำให้อั้นฉี่ไม่ได้ ปวดท้องรุนแรง บางรายอาจร้ายแรงถึงขั้นไตวายได้
เหตุใด ‘ชานมหวาน’ ถึงเป็นเครื่องดื่มทำลายไต
ในชานมหวานนอกจากจะมีน้ำตาลมหาศาลแล้ว ก็ยังมีสารอาหารบางอย่างที่เป็นตัวเร่งให้เกิดนิ่วในไต ได้แก่
- น้ำตาลฟรุคโตส ฟรุคโตสจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ไตทำงานหนัก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว
- แคลเซียม ชานมบางชนิดมีส่วนผสมของนม ซึ่งมีแคลเซียมสูง แคลเซียมส่วนเกินจะถูกขับออกทางปัสสาวะ และอาจตกผลึกเป็นนิ่วได้
- ออกซาเลต สารนี้พบได้ในใบชาออกซาเลต ซึ่งออกซาเลตจะจับตัวกับแคลเซียม กลายเป็นนิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลต ถือเป็นชนิดที่พบมากที่สุด
ดื่มชานมอย่างไร ไม่ให้นิ่วถามหา
แม้หลาย ๆ จะรู้แล้วว่าการดื่มชานมหวานเป็นประจำทุกวันนั้นเสี่ยงให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากจะให้หยุดดื่มก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ทางกรมอนามัยจึงได้รวบรวม 4 คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ต้องดื่มอย่างไรไม่ให้นิ่วถามหา?
1. ลดหวาน! สั่งแบบหวานน้อย หรือไม่ใส่น้ำตาลเลยยิ่งดี
2. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ น้ำเปล่าช่วยเจือจางปัสสาวะ ลดการตกผลึกของแร่ธาตุ
3. เลือกนมไขมันต่ำ นมพร่องมันเนยหรือนมถั่วเหลือง ช่วยลดปริมาณแคลเซียม
4. ทานผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย มะเขือเทศ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง