กรมราชทัณฑ์ แจงนับวันเข้าเกณฑ์พักโทษ ‘ทักษิณ’ ยืนยันถูกต้องแล้ว
กรมราชทัณฑ์ แจงนับวันเข้าเกณฑ์พักโทษ ทักษิณ ชินวัตร ยืนยันปล่อยตัวคุมประพฤติในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ถูกต้องแล้ว
กรมราชทัณฑ์ ส่งเอกสารข่าวชี้แจงว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องโทษจำคุกตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษให้เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2566 จึงจะพ้นโทษจำคุกในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 สำหรับประเด็นนับวันพักการลงโทษ ในหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษกรณีพิเศษ กำหนดเงื่อนไขว่าต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่านั้น โดยกรณีนี้จะเริ่มนับวันต้องโทษตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 180 วัน และปล่อยตัวคุมประพฤติในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ถูกต้องแล้ว
ทั้งนี้ การคำนวณระยะเวลาจำคุก 6 เดือนนั้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า ในการคำนวณระยะเวลาจำคุก ให้นับวันเริ่มจำคุกรวมคำนวณเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ เมื่อผู้ต้องคำพิพากษาถูกจำคุกครบกำหนดแล้วให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด
หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส. นครศรีธรรมราช ได้ตั้งคำถามว่ากรมราชทัณฑ์ได้คำนวณวันพักการลงโทษของนายทักษิณ คลาดเคลื่อนหรือไม่ หากกรมราชทัณฑ์ นับวันพักการลงโทษผิด ใครรับผิดชอบ และจะมีความผิดตามมาตรา 157 หรือไม่?
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง