ข่าวภูมิภาค

ผอ.ศูนย์วิจัยฯ เผย กรณีประมงพื้นบ้านจับปลาหางแข็งได้จำนวนมากที่หาดในหานเป็นภาวะปกติ

ภูเก็ต – ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอันดามันตอนบน ฯเผย กรณีประมงพื้นบ้านจับปลาหางแข็งได้จำนวนมากที่หาดในหานภูเก็ตเป็นภาวะปกติตามฤดูกาลปีละ 2 ครั้ง ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณใดๆ เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ

สืบเนื่องจากกรณีที่มีชาวประมงพื้นบ้านหาดกะตะ อ.เมือง จ.ภูเก็ต จำนวนประมาณ 10 คน ได้ช่วยกันวางอวนเปลและสามารถล้อมจับ “ปลาหางแข็ง” ซึ่งว่ายน้ำเข้ามาบริเวณใกล้กับชายฝั่งบริเวณหาดในหานอ.เมืองภูเก็ต ได้เป็นจำนวนมาก รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ตัว เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 2 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา

Advertisements

สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้พบเห็นหรือทราบข่าวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะเรื่องของการส่งสัญญาณเตือนภัยทางธรรมชาติ

วานนี้ (3ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสัมภาษณ์นายสุชาติ แสงจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอันดามันตอนบน (ภูเก็ต) กล่าวว่า การที่ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปลาหางแข็งได้เป็นจำนวนมากนั้นถือว่าเป็นภาวะปกติ จากการที่ได้ทำข้อมูลทรัพยากรทางด้านประมง ในส่วนของปลาหางแข็งนั้นจะพบได้ในบริเวณพื้นที่ของ จ.ภูเก็ต ต่อเนื่องไปจนถึง จ.พังงา

โดยจะมีการแพร่กระจายเข้ามาในพื้นที่การทำประมงอยู่2 ช่วง คือ ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงที่มีมาตรการปิดอ่าว โดยเฉพาะอ่าวพังงา กับในช่วงที่มีการเปลี่ยนฤดูมรสุม จากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นตะวันออกเฉียงเหนือ หรือประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม ซึ่งจะพบว่าในระยะนี้ปลาหางแข็งจะถูกจับได้มากทางฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต

ส่วนข้อมูลทางชีววิทยานั้น พบว่าปลาบ้านเราจะเป็นปลาโซนร้อน โดยจะมีการวางไข่ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงที่มีการวางไข่ค่อนข้างมาก จะมี 2 ช่วง คือ กุมภาพันธ์ ถึงเมษายน กับมิถุนายนถึงสิงหาคม จากกรณีที่ชาวประมงพื้นบ้านจับปลาได้มากนั้น จะเป็นปลาที่มีการวางไข่ในช่วงมิถุนายนถึงสิงหาคม

เมื่อดูขนาดของตัวปลาจะมีน้ำหนักประมาณ 600-700 กรัม เมื่อดูพฤติกรรมพบว่าเป็นปลากินเนื้อ ล่าปลาขนาดเล็กอื่นๆ เป็นปลาที่อยู่ในขนาดใกล้จะสืบพันธ์ และยังไม่ได้เคลื่อนตัวออกไปนอกชายฝั่งโดยอาศัยอยู่ในบริเวณที่ไม่ห่างจากชายฝั่งมากนัก เนื่องจากปลาเหล่านี้จะอาศัยอยู่บริเวณกองหินหรือแนวเกาะ

Advertisements

ซึ่งลูกปลาขนาดเล็กส่วนใหญ่จะเลี้ยงตัวอยู่ใกล้กับบริเวณชายฝั่ง ทำให้ปลาขนาดใหญ่ว่ายน้ำตามมา และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เช่นกันที่บริเวณหาดป่าตอง ส่วนใหญ่จะเป็นปลาหางแข็ง ปลาแป้น ปลาสาก

นายสุชาติ กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลทางวิชาการที่มีอยู่ยืนยันว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ และใช้เครื่องมือที่ใช้จับปลาผิวน้ำ คือ อวนล้อมจับ โดยอวนที่ชาวประมงใช้จับปลาหางแข็งได้ เป็นอวนติดตา และหากมีการติดตามข่าวเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากเปิดอ่าวพังงาชาวประมงในพื้นที่ จ.กระบี่ก็สามารถจับปลาหางแข็งได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน

และยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณใดๆ เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องปกติตามฤดูกาล โดยได้มีการตรวจสอบแล้วทั้งข้อมูลทางวิชาการ และข้อมูลจากการพูดคุยกับชาวประมงซึ่งเขาทราบดีว่า ช่วงใดที่มีปลาชนิดใดเข้ามา และเขาจะทำการประมงเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button