อ.เจษฎา เตือน ปลาหมอคางดำสีสวย แต่แฝงภัยอันตรายเพียบ
อ.เจษฎา เคลียร์ข้อสงสัย ปลาหมอคางดำสีสวยเกิดจากปลาอยู่ในฤดูผสมพันธุ์ อันตรายไม่แพ้กันปลาหมอคางดำสีตุ่น แนะนำต้องกำจัดให้หมดจากระบบนิเวศ นำไปปรุงอาหารได้เลย
จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพปลาหมอคางดำบริเวณแอ่งน้ำเน่าขนาดเล็ก มีลักษณะที่แปลกไปจากตัวอื่น ๆ เนื่องจากลำตัวมีสีเหลืองอร่าม และมีสีฟ้าและสีม่วงไล่สีตามครีบ ต่างจากภาพปลาหมอคางดำที่เคยพบจะมีลำตัวสีดำคล้ายปลานิล เธอพบปลาตัวดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
ล่าสุด 18 กรกฎาคม 2567 “อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาคลายข้อสงสัยแล้วว่า ปลาหมอคางที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้เป็นปลาหมอคางดำตัวผู้ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ จึงขับสีออกมาให้ลำตัวมีสีสันสวยงามเพื่อดึงดูดตัวเมีย คล้ายกับปลาหมอเทศหรือปลานิลที่เปลี่ยนสีในช่วงฤดูผสมพันธุ์เช่นกัน
ปลาหมอคางดำเป็นปลาต่างถิ่นที่กำลังระบาดในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาในรัฐฟลอริดา รัฐฮาวาย และประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่ามีสาเหตุมาจากการลักลอบนำเข้าโดยผู้ค้าปลาสวยงาม สำหรับประเทศไทย ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปลาชนิดนี้เข้ามาได้อย่างไร
สำหรับวิธีจัดการกับปลาหมอคางดำในต่างประเทศนั้น มีการส่งเสริมให้จับมากินหรือทำอาหารสัตว์ ซึ่งคล้ายคลึงกับแนวทางที่กำลังรณรงค์ในประเทศไทย นอกจากนี้ที่ฮาวายยังมีกรณีโรคระบาดในปลาหมอคางดำและปลาหมอชนิดอื่น ๆ ทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมากด้วย
อย่างไรก็ตาม อ.เจษฎา ย้ำเตือนว่าแม้ปลาหมอคางดำจะมีสีสันสวยงาม แต่อย่าลืมตระหนักถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ หากปล่อยให้ปลาหมอคางดำขยายพันธุ์ต่อไปส่งผลต่อระบบนิเวศ ทั้งนี้แนะนำให้จับปลาหมอคางดำไปประกอบอาหารเพื่อลดปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดราคา “ปลาหมอคางดำ” กิโลกรัมละกี่บาท สมุทรสาคร
- แจกเมนู ปลาหมอคางดำ จับกินให้เกลี้ยง ทวงคืนแหล่งน้ำปลาประจำถิ่น
- เปิดพิกัด จุดรับซื้อ ‘ปลาหมอคางดำ’ จ.สมุทรสาคร สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน