สุขภาพและการแพทย์

สารไซยาไนด์ วิธีป้องกันตัวจากยาพิษแห่งความตาย

รู้จัก “สารไซยาไนด์” พิษร้ายแรงที่อาจพบได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมวิธีสังเกตอาการ และปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้

ไซยาไนด์ (Cyanide) คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่มีพิษร้ายแรงมาก หากเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เสียชีวิตฉับพลันได้ภายในไม่กี่นาที หรือประมาณ 1 ชั่วโมงให้หลัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารไซยาไนด์ที่เข้าสู่ร่างกาย โดยไซยาไนด์สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การสัมผัสทางผิวหนัง การสูดดม และการกิน

การทำงานของไซยาไนด์เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปทำหน้าที่กีดกันไม่ให้เซลล์ต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จากออกซิเจน ส่งผลให้กระบวนการออกซิเดทีฟฟอสโฟรีเลชัน (Oxidative phosphorylation) ที่ทำหน้าที่ช่วยสร้าง ATP (Adenosine triphosphate) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่จำเป็นต่อชีวิตมนุษย์หยุดลง

สารไซยาไนด์ คือ สารเคมีที่มีพิษร้ายแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาไม่นาน

อาการต่าง ๆ เมื่อได้รับสารไซยาไนด์

กรณีที่สารไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อย อาจทำให้มีอาการเบื้องต้น คือ ปวดหัว รับรู้รสชาติผิดปกติ อาเจียน เจ็บหน้าอก ปวดท้อง และวิตกกังวล นอกจากนี้เมื่อรับสารพิษไปในระยะหนึ่งร่างกายจะแสดงทางกายภาพหลายอย่าง เช่น อาการคัน ผิวหนังมีสีแดงขึ้นอย่างผิดปกติ มีอาการบวมตามร่างกาย ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ หรืออาจมีอาการร้ายแรงขึ้น อาทิ ชัก หมดสติ อาเจียน ไตวายเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือกระทั่งเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

กรณีของการรับสารไซยาไนด์ในปริมาณน้อยเป็นเวลานานจากพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น สูบบุหรี หรือบริโภคสิ่งที่มีสารไซยาไนด์ตามธรรมชาติเป็นประจำ อาจทำให้เกิดภาวะพิษจากไซยาไนด์แบบเรื้อรังได้ โดยมีอาการบ่งชี้เหล่านี้ คือ ชาตามร่างกาย สูญเสียการได้ยิน สายตาเสื่อม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากสารไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันเวลา ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เลยทันที

ในเมล็ดของผักหรือผลไม้บางชนิด อาจพบสารไซยาไนด์ตามธรรมชาติได้

สารไซยาไนด์ที่พบได้ในชีวิตประจำวัน

ไซยาไนด์อาจแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราได้โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากเมล็ดของผลไม้บางชนิด เช่น แอปเปิล พีช ลูกแพร์ และอัลมอนด์ มีสารไซยาไนด์ปะปนอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถพบสารพิษนี้ได้ในหน่อไม้ดิบและมันสำปะหลังด้วย ถึงจะมีปริมาณไซยาไนด์ที่น้อยมากในผักผลไม้ แต่หากหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณการบริโภคลง ก็จะทำให้ความเสี่ยงต่อการรับสารไซยาไนด์เข้าสู่รต่างกายลดลงได้

นอกจากผักและผลไม้แล้ว ไซยาไนด์จากธรรมชาติยังสามารถพบได้มากในยาสูบด้วย ผลการศึกษาจำนวนมากจึงพบว่าระดับไซยาไนด์ในเลือดของผู้ที่สูบบุหรี่ อยู่ในปริมาณที่สูงกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 2.5 เท่า

วิธีป้องกันการรับสารไซยาไนด์

แม้ว่าการรับไซยาไนด์ตามธรรมชาติในปริมาณไม่มากอาจส่งผลร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิต แต่หากสัมผัสซ้ำหลายครั้ง หรือได้รับสารอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราได้ ทางออกที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการกินเมล็ดผักและผลไม้บางชนิด และตรวจสอบให้แน่ใจว่ามันสำปะหลังรวมถึงหน่อไม้ที่จะบริโภค ผ่านการปรุงสุกอย่างเพียงพอแล้ว

ในกรณีที่บังเอิญอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีการปล่อยสารไซยาไนด์มาจากการเผาไหม้ ให้หมอบลงและคลานบนพื้น เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดม และรีบออกจากพื้นที่ให้ไวที่สุด

สารไซยาไนด์มีพิษสูง หากปฐมพยาบาลทันที อาจเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อได้รับพิษจากไซยาไนด์

การสัมผัสทางผิวหนัง

– หากได้รับไซยาไนด์ทางผิวหนัง ต้องรีบล้างบริเวณที่ได้รับสารนั้นด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที เป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 15 นาที สำหรับผู้ให้ความช่วยเหลือควรสวมชุดป้องกันและหน้ากากตลอดเวลา

– ใช้กรรไกรตัดหรือถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารไซยาไนด์ออกให้เร็วที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการดูดซึมสารพิษเพิ่มเติมในบริเวณอื่น

การสัมผัสผ่านดวงตา

– เมื่อไซยาไนด์เข้าตา ควรรีบล้างสารเคมีออกจากตา เป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 15-20 นาที โดยห้ามขยี้ตาเด็ดขาด หากใส่คอนแทคเลนส์อยู่จำเป็นต้องถอดออกก่อนล้างตา จากนั้นจึงรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

การสูดดมหรือการกิน

– ควรโทรเรียกรถพยาบาลทันที เพื่อรับการช่วยเหลือจากแพทย์ฉุกเฉิน เนื่องจากการรับสารไซยาไนด์ในกรณีนี้ จำเป็นต้องได้รับการปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงที โดยอาจให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นได้ด้วยการย้ายผู้ป่วยไปยังบริเวณที่มีการถ่ายเทได้ดี เช่น บริเวณกลางแจ้ง หรือพื้นที่ใกล้หน้าต่าง

– ห้ามกินหรือดื่มอะไรเพิ่มเติมจนกว่าจะได้พบแพทย์

– หากผู้ได้ับสารพิษเกิดอาการหมดสติและหยุดหายใจ ให้ทำการปั๊มหัวใจทันที ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการช่วยเหลือที่สัมผัสกันแบบปากต่อปาก เพราะอาจทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้รับอันตรายได้

– รอให้แพทย์มาถึง และเตรียมแจ้งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับอาการของผู้ที่ได้รับสารไซยาไนด์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : MedPark Hospital

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button