ข่าว

รู้จัก ‘ปลากะพงขาว’ นักล่า ช่วยกำจัด ‘ปลาหมอคางดำ’ หนทางสยบเอเลี่ยนสปีชีส์

ทำความรู้จัก ‘ปลากะพงขาว’ สัตว์น้ำผู้เก่งกาจที่จะช่วยสยบเอเลี่ยนสปีชีส์ ‘ปลาหมอคางดำ’ หนทางกำจัดตั้งแต่ยังเป็นตัวลูก สู่การฟื้นคืนระบบนิเวศ

นาทีนี้คงไม่มีข่าวคราวไหนใหญ่ไปกว่า กรณีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงในหลายพื้นที่ร้องเรียนว่า ถูก ปลาหมอคางดำ (เอเลี่ยนสปีชีส์) ลุกล้ำพื้นที่และบุกกินสัตว์น้ำในระบบนิเวศเดิม จนทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจ ก่อนจะนำไปสู่การที่หน่วยงานภาครัฐฯ ออกมาตรการควบคุมจำนวนปลาหมอคางดำ และในขณะเดียวกัน ผู้ใช้โซเชียลบางส่วนก็ได้ออกมาเผยวิธีต่าง ๆ นานา ในการกำจัดปลาเอเลี่ยนสปีชีส์สายพันธุ์นี้

วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ทางหน่วยงานได้เตรียม 5 มาตรการป้องกันและการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยหนึ่งในวิธีการที่เป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้ก็คือ วิธีปลากินปลา ซึ่งก็คือ การใช้ ‘ปลากะพงขาว’ ในการกำจัด ‘ปลาหมอคางดำ’ ด้วยเหตุนี้ทางทีมงานไทยเกอร์จึงอยากพาทุกท่านไปทำความรู้จัก ปลากะพงขาว สัตว์น้ำชนิดนี้เติบโตอย่างไร และเหตุใดจึงสามารถช่วยสยบปลาหมอคางดำได้

ปลาหมอคางดำ
ภาพจาก : กรมประมง

‘ปลากะพงขาว’ สัญชาตญาณปลานักล่า

ปลากะพงขาว (Asian seabass, Barramundi หรือ Lates calcarifer) เป็นปลาน้ำกร่อยชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ ถือเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พบได้ทั่วไปในทุกจังหวัด ทั้งในอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน และจะอาศัยอยู่อย่างชุกชุมตามปากแม่น้ำ ลำคลอง และปากทะเลสาบ แต่ก็สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย

ลักษณะทั่วไทยของ ‘ปลากะพงขาว’ จะมีรูปร่างลำตัวหนาและด้านข้างแบน หัวโต จะงอยปากค่อนข้างยาวและแหลม นัยน์ตาโต ปากกว้างยืดหดได้ มุมปากอยู่เลยไปทางหลังนัยน์ตา ครีบหลังแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหน้าเป็นก้านครีบแข็ง ปลายแหลม ส่วนหลังเป็นครีบอ่อน ตัวมีสีเงินเหลือบเขียวหรือน้ำตาลอ่อน ท้องสีขาวเงิน มีขนาดความยาวประมาณ 20 – 40 เซนติเมตร พบใหญ่สุดได้ถึง 2 เมตร

ปลากะพงขาว

เหตุที่ต้องบอกว่าเป็นสัตว์น้ำสำคัญต่อเศรษฐกิจก็เพราะสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย ทั้งยังมีรสชาติดี เนื้อแน่น ซึ่งเมนูยอดฮิตจากปลากะพงก็เช่น ปลากะพงทอดน้ำปลา ปลากะพงนึ่งมะนาว ต้มยำปลากะพง และอื่น ๆ อีกมากมาย และนอกจากการซื้อเพื่อนำไปปรุงอาหารแล้ว ปลากะพงขาวยังนิยมเลี้ยงในกระชังเพื่อค้าขายอีกด้วย

‘ปลากะพงขาว’ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มปลากินเนื้อ โดยจะกินสัตว์น้ำทุกชีวิตที่มีขนาดเล็กกว่า อาทิ ลูกปลา กุ้ง และปูเล็กปูน้อย แต่ก็สามารถกินอาหารเม็ดของปลาได้ด้วยเช่นกัน

สิ่งที่พิเศษที่สุด คือ ปลากะพงขาวจะวางไข่ครั้งหนึ่งราว ๆ 200,000 – 400,000 ฟอง โดยหลังปล่อยไข่ลงสู่แหล่งน้ำกร่อย หรือ ชายทะเล ไข่จะฟักเป็นลูกปลาได้ในเวลาไม่ถึง 1 วัน เพียงแต่ช่วงระยะเวลากว่าจะเติบโตเป็นแม่ปลาได้จะต้องผ่านการใช้ชีวิตนานถึง 3 – 4 ปีก่อน ซึ่งนับว่านานอยู่พอสมควร

เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย เพราะสิ่งที่น่ากังวลที่สุด คือ ปลากระพงขาวไวต่อความสะอาดของน้ำ ยิ่งถ้ามีค่าออกซิเจนในน้ำน้อย ปลากะพงขาวก็อาจตายได้ ทั้งยังมีนิสัยกินไม่เลือก ซึ่งในบางครั้งก็อาจะกินกันเอง

‘ปลากะพงขาว’ ซูเปอร์ฮีโร่ ช่วยสยบ ‘ปลาหมอคางดำ’

ด้วยความที่ปลากะพงขาวดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินสัตว์น้ำทุกชนิดที่ขนาดเล็กกว่า ทั้งยังเป็นสัตว์ที่เกิดในน้ำกร่อย และเติบโตได้ในน้ำจืด นั่นจึงเท่ากับว่าสามารถอาศัยอยู่ได้ในทั้งสองระบบนิเวศ ในขณะที่ปลาหมอคางดำเกิดในน้ำจืด และโตในน้ำกร่อย เช่นนั้นแล้ว ‘ปลากะพงขาว’ จึงถือเป็นคู่ปรับที่เยี่ยมยอดในการใช้เป็นเครื่องมือกำจัด ‘ปลาหมอคางดำ’

โอกาสเดียวที่สามารถใช้ปลากะพงขาวได้การสยบปลาหมอคางดำก็คือ อาศัยช่วงที่ปลาหมอคางดำอยู่ในช่วงเติบโตน้ำจืด และยังคงเป็นเพียงลูกปลาตัวอ่อน ขนาดไม่เกิน 7 เซนติเมตร ต่อมาจึงค่อยทำการปล่อยปลากะพงขาวตัวเต็มวัยลงไปในแหล่งน้ำเดียวกัน จากนั้นก็ปล่อยให้สัญชาตญาณการล่าสัตว์เล็กของปลากะพงขาวได้ทำหน้าที่กัดกินลูกปลา

แนวทางนี้จะช่วยยับยั้งไม่ให้ปลาหมอคางดำเจริญเติบโตถึงช่วงเต็มวัยจนไปทำลายระบบนิเวศอื่น ๆ ในขณะที่ปลากะพงขาวก็สามารถเจริญเติบโตได้ตามวัฏจักรชีวิต มีอาหารกิน โตเป็นแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ต่อไป หรือบางส่วนอาจถูกจับไปปรุงอาหาร และเอาไปเพาะพันธุ์ค้าขาย

ปลาหมอคางดำ

ข้อแม้คือ แหล่งน้ำนั้นจะต้องเป็นบ่อปิด เหตุเพราะปลาหมอคางดำโดดเด่นเรื่องความว่องไว และความอึด หากปล่อยรวมในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยผลาชนิดอื่น ๆ ปลากะพงขาวจะเลือกกัดกินลูกปลาสายพันธุ์อื่น ๆ ที่เชื่องช้ากว่า เพื่อจะได้ไม่ต้องเหนื่อยในขณะหาอาหาร

สรุปแล้ว ปลากะพงขาวจะสามารถกำจัดปลาหมอคางดำได้เฉพาะในช่วงที่ปลาหมอคางดำยังเป็นลูกปลา และจะต้องอยู่ร่วมกันในบ่อปิดเท่านั้น

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปลากะพงขาวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดปลาเอเลี่ยนสปีชีส์เท่านั้น แต่ก่อนหน้านี้ก็เคยมีกรณีที่นำปลากะพงขาวมาควบคุมปริมาณลูกปลานิลด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button