ค้นพบแหล่งน้ำอายุ 12 พันล้านปี ลอยอยู่ในอวกาศ ข่าวใหญ่วงการดาราศาสตร์
อัศจรรย์วงการวิทย์ นาซ่าค้นพบแหล่งน้ำขนาดมหึมาในอวกาศ อายุเก่าแก่ถึง 12 พันล้านปี เผยใช้ทีมนักดาราศาสตร์ค้นหากว่า 3 ปี
เมื่อวานนี้ (4 ก.ค. 67) เว็บไซต์ต่างประเทศ Unilad เผยข่าวดีวงการวิทยาศาตร์จากกรณี ทีมนักดาราศาสตร์ทั้งสองทีมของ แมตต์ แบรดฟอร์ด (Matt Bradford) และ ดาริอุสซ์ ลิส (Dariusz Lis) ว่าได้ค้นพบแหล่งน้ำขนาดมหึมากลางอวกาศ ที่ห่างจากโลกเราไปกว่า 12 พันล้านปีแสง ล้อมรอบหลุมดำขนาดใหญ่ที่กำลังดูดกลืนสสารที่เรียกว่า “ควาซาร์” (quasar)
จุดเริ่มต้นของการค้นพบนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2008 ที่ทีมของแมตต์ แบรดฟอร์ด นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนด้วยไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory) ของ นาซ่า (NASA) ในแคลิฟอร์เนีย ด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 33 ฟุตใกล้ยอดเขา Mauna Kea ในฮาวาย ก่อนที่จะติดตามผลด้วยการสังเกตการณ์จากจานรับสัญญาณวิทยุในเทือกเขา Inyo Mountains ทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย
ต่อมาทีมที่สองที่นำโดย ดาริอุสซ์ ลิส นักวิจัยอาวุโสด้านฟิสิกส์ที่ คาลเทค (Caltech) และรองผู้อำนวยการหอดูดาวคาลเทคซับมิลมิเตอร์ (Caltech Submillimeter Observatory) ใช้ อินเตอร์เฟอโรมิเตอร์แบบถาด (Plateau de Bure Interferometer) ในเทือกเขาแอลป์ของฝรั่งเศสเพื่อค้นหาแหล่งน้ำนี้
แบรดฟอร์ด ตั้งข้อสังเกตว่าสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ควาซาร์นั้น “มีความพิเศษมาก” ในลักษณะที่มันสร้าง “มวลน้ำขนาดใหญ่” นี้ขึ้นมา การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าน้ำมีอยู่ทั่วไปในจักรวาล
อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ไม่เคยพบไอน้ำที่อยู่ไกลออกไปในช่วงต้นของจักรวาลมาก่อน การค้นพบน้ำรอบ ๆ ควาซาร์ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุได้ว่าควาซาร์กำลัง “อาบ” ก๊าซด้วยรังสีเอกซ์และรังสีอินฟราเรด ทำให้ก๊าซ “อุ่นและหนาแน่นผิดปกติตามมาตรฐานทางดาราศาสตร์”
แม้ว่าก๊าซจะมีอุณหภูมิเย็นจัดที่ -53 องศาเซลเซียส และมีความหนาแน่นน้อยกว่าชั้นบรรยากาศของโลกถึง 300 ล้านล้านเท่า แต่มันก็ยังร้อนกว่าและหนาแน่นกว่าสิ่งที่พบได้ทั่วไปในกาแล็กซีอย่างทางช้างเผือกถึง 5 เท่า และ 10 ถึง 100 เท่า ตามลำดับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง