สธ. เตือนภัย ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ หน้าตาเหมือนสมาร์ทวอช ใช้ตบตาตำรวจ
กระทรวงสาธารณสุข เตือนภัย บุหรี่ไฟฟ้า หน้าตาเหมือนสมาร์ทวอช ใช้ตบตาตำรวจ หวั่นใช้เป็นภาชนะในการซุกสารเสพติดด้วย
นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งโต๊ะแถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานบูรณาการเพื่อการปราบปรามและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายวัน อยู่บำรุง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พล.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.), นพ.อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า การประชุมวันนี้นับเป็นก้าวแรก หรือวันดีเดย์ ในการบูรณาการทำงานร่วมกันของคณะทำงานบูรณาการเพื่อการปราบปรามและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ตามที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ได้ลงนามแต่งตั้งขึ้น
โดยมีการทำงานจากหลายภาคส่วน เช่น กรมควบคุมโรค กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น โดยวันนี้เป็นการประชุมเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า ส่งออก การมีไว้ในครอบครอง ซึ่งมีกฎหมายบังคับใช้อยู่แล้ว
เพียงแต่เราต้องเร่งรัดการบังคับใช้ โดยเฉพาะการจำหน่ายให้กับเยาวชน ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น เป็นตุ๊กตา เป็นโมเดล ทำให้เกิดการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จากนั้นก็นำไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่น ๆ เราจึงต้องตัดตอนกระบวนการของบุหรี่ไฟฟ้า
“บุหรี่ไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีแบบที่เป็นสมาร์ทวอทช์ (smart watch) ที่รูปร่างภายนอกเหมือนนาฬิกาทั่วไป แต่ข้างในกลับเป็นบุหรี่ไฟฟ้า นี่จึงเป็นความอันตรายต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก ทำให้เกิดการหลงผิด ถือว่าอันนี้ดูยากมาก ๆ เพราะดูแล้วก็เหมือนนาฬิกา ซึ่งผมก็ใช้อยู่” นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าว
ด้าน พล.ต.วิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเป็นสินค้าต้องห้าม ไม่สามารถนำเข้า ส่งออก หรือครอบครองได้ ซึ่งกรณีที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นการครอบครองหรือการเสพ ล้วนมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ตามมาตรา 246 การมีไว้ครอบครองมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับเป็น 4 เท่าของราคาของ หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถยึดเป็นของกลางได้ ส่วนความน่ากังวลคือปัจจุบันมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภาชนะในการเก็บสารเสพติดอย่างอื่น เช่น เคตามีน (ketamine) โดยมีการซ่อนไว้ในตัวบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เหมือนเป็นการสูบบุหรี่ แต่จริง ๆ แล้วดมสารเสพติด
นอกจากนั้น ยังซ่อนไว้เผื่อว่าโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไป ก็จะโดนโทษแค่บุหรี่ไฟฟ้า แต่จริงๆ แล้วมียาเสพติดอื่นอยู่ด้วย ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องมีการตรวจอย่างละเอียด เช่น การตรวจปัสสาวะ การจำแนกสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งถ้าเจอว่ามีสารเสพติดก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง