อ.เจษฎา เตือน “เที่ยวสูดโอโซน” ใช้คำผิด โอโซนไม่ใช่อากาศบริสุทธิ์ เสี่ยงปอดพัง
หลายคนคงเคยเห็นป้ายโฆษณาเชิญชวนให้ไป “เที่ยวสูดโอโซน” ตามสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่าง ๆ สร้างภาพความสดชื่นบริสุทธิ์ของอากาศให้เราอยากสูดหายใจเข้าเต็มปอด แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วโอโซนไม่ใช่อากาศบริสุทธิ์ที่เราควรสูดเข้าไป
“รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กย้ำเตือน แท้จริงแล้วโอโซนคือก๊าซพิษ รวมทั้งอธิบายข้อเสียของก๊าซโอโซน เพราะไม่อยากให้แหล่งท่องเที่ยวนำคำนี้ไปใช้แบบผิดความหมายอีก
อ.เจษฎา อธิบายว่า โอโซน (O3) คือ ก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น เกิดจากฟ้าผ่า หรือแสงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งโอโซนเกิดจากการรวมตัวกันของก๊าซออกซิเจนและอะตอมออกซิเจน โดยการกระตุ้นของรังสีอัลตร้าไวโอเลตซี (UV-C) ปรากฏอยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ (Stratosphere) หรือชั้นที่มีโอโซนหนาแน่นที่สุด
ชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์เป็นแหล่งผลิตก๊าซโอโซน โดยโอโซนทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มกัน ปกป้องพืชและสัตว์จากรังสีที่มาจากดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรังสีอัลตร้าไวโอเลตบี (UV-B) เป็นรังสีที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากได้รับในปริมาณที่เยอะเกินไป ซึ่งในประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีก๊าซโอโซนมาก ไม่ว่าจะเป็น นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และย่านถนนสีลมในกรุงเทพมหานคร
แม้ก๊าซโอโซนจะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในก๊าซพิษ แต่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น นำไปใช้เป็นสารซักฟอก ช่วยในการฟอกสี สามารถนำไปบำบัดน้ำเสียให้น้ำสะอาดได้ นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ทั้งยังช่วยสลายก๊าซพิษต่าง ๆ ทำให้อากาศสะอาดบริสุทธิ์ขึ้น
ถึงโอโซนจะมีประโยชน์มากมาย แต่ยังเป็นก๊าซที่ทำอันตรายต่อมนุษย์ได้เช่นกัน หากสูดโอโซนเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวดศีรษะ, แน่นท้อง, ท้องเสีย และอาเจียน นอกจากนี้ยังส่งผลเสียกับปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีระบบภูมิต้านทานไม่แข็งแรงพอ
อย่างไรก็ตาม อ.เจษฎา ย้ำเตือนว่า หากสูดโอโซนเข้ามาเกินไป อาจส่งผลถึงระบบพันธุกรรม หรืออวัยวะสืบพันธุ์ได้ ทั้งนี้ ไม่ควรสัมผัสโอโซนในรูปของของเหลวที่มีเข้มข้นสูงบริเวณดวงตาหรือผิวหนัง เพราะจะทำให้ระคายเคืองและปวดแสบปวดร้อน หรือรุนแรงไปจนถึงขั้นมีอาการไหม้รุนแรงได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง