ข่าว

พบขน-รอยเลือด ขณะติดตามตัว ‘นกยูงอินเดียสีขาว’ หวั่นทำนกยูงไทยสูญพันธุ์

พบขน และ รอยเลือด ขณะติดตามตัว นกยูงอินเดียสีขาว หลังมีความกังวลว่าจะทำนกยูงไทยสูญพันธุ์ คาดอาจถูกสัตว์ตัวอื่นทำร้ายไปแล้ว

จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความถึง นกยูงอินเดียสีขาว ที่หากินร่วมกับนกยูงไทย ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จนหลายคนมีความกังวลในเรื่องการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์จนเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม ทำนกยูงไทยสูญพันธุ์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เร่งค้นหาเพื่อเคลื่อนย้ายนกยูงอินเดียสีขาวตามที่มีรายงานไปก่อนหน้านี้นั้น

ล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกมาอัปเดตความคืบหน้าผ่านเฟซบุ๊กว่า “เจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งพบซากขนนกยูงอินเดียสีขาว เตรียมเพิ่มจุดตั้งกล้องและเดินเท้าสำรวจหาลูกนกยูงพันธุ์ผสม ต่อไป

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.67 นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เปิดเผยว่ากรณีช่างภาพถ่ายภาพนกยูงอินเดียและนกยูงพันธุ์ผสมได้ที่บริเวณหอดูสัตว์หอนกยูงบริเวณโป่งช้างเผือกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นการรายงานต่อเนื่องนั้น

ตามที่ ขสป.ห้วยขาแข้งได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการป่าไม้และสัตว์ป่าจำนวน 4 คน และเจ้าหน้าที่จุดสกัดที่ 006 โป่งช้างเผือกจำนวน 2 คน เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนหน่วยพิทักษ์ป่าวังไผ่ เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนหน่วยพิทักษ์ป่ายางแดง เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รวมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจำนวน 20 คน ดำเนินการค้นหานกยูงดังกล่าวพร้อมทั้งโรยอาหารบริเวณเส้นทางหากินและวางกรงดักเพื่อดักจับ นั้น

จากการซุ่มสังเกตการณ์บนหอดูสัตว์หอนกยูงบริเวณโป่งช้างเผือก พบว่า

1.ไม่พบนกยูงตัวสีเขียวที่คาดว่าเป็นพันธุ์ผสมตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2567
2. ไม่พบนกยูงอินเดียสีขาวตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2567
3. เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนได้เดินสำรวจบริเวณใกล้เคียงเพื่อค้นหานกยูงทั้ง 2 ตัว ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนพบเศษขนของนกยูงอินเดียสีขาวพร้อมทั้งมีรอยเลือดแต่ไม่พบซากนกยูงตัวดังกล่าว คาดว่าอาจถูกทำร้ายหรือกินโดยสัตว์ผู้ล่าไม่ทราบชนิด เนื่องจากขณะที่เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นนกยูงอินเดียตัวสีขาวนั้น มีลักษณะไม่ค่อยระวังตัวเท่านกยูงไทยจึงอาจตกเป็นเหยื่อของสัตว์ผู้ล่าได้ง่าย

ส่วนแผนการดำเนินงานต่อจากนี้

1. เจ้าหน้าที่จะทำการเก็บกรงดักเนื่องจากพบว่ามีโขลงช้างป่าเข้ามาหากินใกล้เคียงพื้นที่ตั้งกรง
2. ในส่วนของนกยูงที่คาดว่าเป็นลูกผสมนั้นจะดำเนินการเพิ่มจุดตั้งกล้องดักถ่ายภาพให้มากขึ้นรวมถึงการเดินเท้าเพื่อตรวจสอบและค้นหาต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button