ซอยด๊อกแนะกทม. จับหมาขังศูนย์พักพิงฯ แก้ปัญหาหมาจรไม่ได้
มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยออกมาแนะนำกทม.กรณีที่มีการวางมาตรการจับสุนัขจรจัดไปไว้ยังศูนย์พักพิงทัพทัน จ.อุทัยธานี ว่าวิธีการดังกล่าวนั้นไม่เหมาะสมและยังไม่ได้ผลอีกด้วย
โดยศูนย์พักพิงสุนัขทัพทัน จ.อุทัยธานี นี้ ถือได้ว่าเป็นศูนย์พักพิงสุนัขของรัฐที่ดีที่สุดที่หนึ่งในประเทศ แต่ขณะนี้มีสุนัขอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากจนเกือบเต็มหรืออาจจะเต็มไปแล้ว
เมื่อหลายก่อน พลตรีจำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สร้างศูนย์พักพิงสุนัขขึ้นเองที่ จ.กาญจนบุรี เพื่อรองรับสุนัขจรจัดจากพื้นที่กทม. อย่างไรก็ตาม ศูนย์พักพิงดังกล่าวกำลังจะปิดตัวลงเพราะขาดแคลนแรงสนับสนุน และเมื่อไม่นานมานี้ พลตรีจำลองได้เข้าไปที่ศูนย์พักพิงสุนัขทัพทันเพื่อหาที่อยู่ใหม่ให้แก่สุนัขเหล่านั้น แต่ก็ได้รับคำตอบว่าขณะนี้ทางศูนย์ฯทัพทันไม่สามารถรับสุนัขเพิ่มได้อีก เนื่องจากมีปริมาณสุนัขเต็มขีดจำกัดแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศูนย์พักพิงสุนัขทัพทันจะยังว่างอยู่ ก็จะสามารถรองรับสุนัขจากกทม.ได้เพียงแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น เพราะซอยด๊อกได้ทำการสำรวจประชากรสุนัขจาก 50 เขตภายใต้การดูแลของกทม.แล้วเมื่อ 3 ปีก่อน และผลปรากฏว่ามีสุนัขในเขตกทม.มากถึงประมาณ 640,000 ตัว
มูลนิธิฯ เห็นด้วยว่าสุนัขที่ดุร้ายและกัดคนจะต้องถูกนำออกจากพื้นที่ แม้ว่าส่วนใหญ่แล้ว สุนัขจรจัดจริงๆ จะหลบเลี่ยงผู้คนเสียมากกว่า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ต้องมีการฝึกฝนเพื่อจับสุนัขเหล่านี้
มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยเริ่มทำหมันและฉีดวัคซีนสุนัขในเขตกทม.เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และยังได้ช่วยสนับสนุนองค์กรอิสระอื่นๆ ทั้งในกทม.และพื้นที่อื่นๆ ด้วยความสนับสนุนจาก Dog Trust Worldwideโดยขณะนี้มูลนิธิฯ มีหน่วยทำหมันเคลื่อนที่จำนวน 4 หน่วยประจำการตามเขตต่างๆ ในกทม. และคาดหวังว่าจะเพิ่มจำนวนเป็น 6 หน่วยภายในปีหน้านี้
โดยขณะนี้มูลนิธิฯสามารถทำหมันสุนัขและแมวได้เกือบปีละ 100,000 ตัวแล้ว โดยภารกิจนี้มีค่าใช้จ่าย 50 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่ได้มีการรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐแต่อย่างใด และหากสุนัขที่ได้รับการทำหมันฉีดวัคซีนแล้ว ถูกย้ายออกจากพื้นที่ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำภารกิจเหล่านี้อีกต่อไป
องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์กรเพื่อการรณรงค์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าโลก(GARC) ได้ลงความเห็นว่าวิธีการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าที่ได้ผลที่สุดคือการฉีดวัคซีนให้แก่สุนัข
ถ้าสุนัขอย่างน้อย 70% ของพื้นที่ได้รับวัคซีน จะสามารถกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าไปได้ โดยสุนัขในพื้นที่จะทำหน้าที่คุ้มกันฝูงป้องกันไม่ให้สุนัขจากพื้นที่อื่นเข้ามาในอาณาเขตของตน
การนำสุนัขเหล่านี้ (ที่ได้รับการทำหมันและฉีดวัคซีน) ออกจากพื้นที่ สุนัขฝูงอื่นๆ ที่ไม่ได้รับ วัคซีนจะเข้าครอบครองพื้นที่และขยายพันธุ์ทันที โดยหลักการนี้คล้ายคลึงกันกับหลักการควบคุมประชากรสุนัข การทำหมันสุนัขตัวเมียให้ได้ 80% จะทำให้ประชากรสุนัขในพื้นที่ลดลงเรื่อยๆ
โดยธรรมชาติแล้ว สุนัขจะมีอาณาเขตของฝูงตนเองและจะป้องกันไม่ให้สุนัขตัวอื่นเข้ามาในพื้นที่ แม้ว่าการทำหมันจะเป็นวิธีการที่ใช้ระยะเวลานาน แต่หากดูจากตัวอย่างในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแล้ว เมื่อผู้คนเข้าใจเรื่องการทำหมันและควบคุมสุนัขของตนเองได้อย่างเหมาะสม สถานการณ์ก็จะคลี่คลายลง
จังหวัดภูเก็ต เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แม้ว่าภาครัฐจะยังปล่อยให้มีการขนส่งลูกสุนัขที่ไม่ได้รับวัคซีนเข้ามาในจังหวัดถึงปีละร้อยๆ ตัว อีกทั้งยังมีการย้ายสุนัขที่ได้รับการทำหมันและฉีดวัคซีนแล้วออกจากพื้นที่ในบางช่วง (ซึ่งทำให้ภารกิจในการควบคุมประชากรสุนัขยากขึ้นมาก) แต่จำนวนสุนัขจรจัดในภูเก็ตก็ยังลดลงอย่างรวดเร็ว และภูเก็ตยังเป็นจังหวัดเดียวได้ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า
ปัญหาสุนัขจรจัดในกทม.เป็นปัญหาใหญ่มาโดยตลอด ที่ผ่านมา มีความพยายามในการใช้มาตรการต่างๆ หลายๆ แบบ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ซึ่งวิธีการเหล่านี้รวมถึงการวางยา การยิง (ซึ่งถูกยกเลิกโดยในหลวงรัชกาลที่ 9) และการย้ายสุนัขออกจากพื้นที่โดยนำไปไว้ที่ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดประเวศ และศูนย์พักพิงสุนัขทัพทัน จ.อุทัยธานี ซึ่งซอยด๊อกเชื่อว่าเป็นวิธีการที่ไม่ได้ผล
สุนัข แมว และหนู ก็เหมือนกับมนุษย์ ที่ต้องการอาหารเพื่อความอยู่รอด หากภาครัฐยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาขยะได้ สัตว์เหล่านี้ก็จะยังมีแหล่งอาหารอยู่ ขณะนี้สุนัขยังเป็นสัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบกับแมวและหนู เมื่อย้ายสุนัขออก จะทำให้ประชากรแมวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างที่เกิดขึ้นในภูเก็ต และหากย้ายประชากรแมวออกจากพื้นที่ประชากรหนูก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ
หากไม่มีการแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ซึ่งก็คือการทำหมันและการกำจัดแหล่งอาหาร ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่มีทางหมดไป
หากต้องการจะรองรับสุนัขจรจัดในเขตกทม. ทั้งหมด จะต้องมีการสร้างศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดอย่างที่จ.อุทัยธานีอีกร้อยแห่ง และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ค่าอาหาร ค่าดูแลรักษาสุนัขนั้นสูงมาก ซึ่งแพงกว่าการจ้างคนจำนวนมากมาจับ ทำหมัน และฉีดวัคซีนสุนัขอย่างแน่นอน
ถึงแม้ว่าการย้ายสุนัขตามท้องถนนออกจากพื้นที่กทม.ทั้งหมด ทั้งที่มีและไม่มีเจ้าของ จะมีความเป็นไปได้ แต่ก็จะมีสุนัขใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ เช่น ลูกสุนัขที่ถูกฟาร์มเพาะสุนัขนำมาทิ้ง หรือ ลูกสุนัขจากสุนัขมีเจ้าของแต่ไม่ได้รับการทำหมัน และถูกนำมาปล่อย ซึ่งสองอย่างนี้เป็นสาเหตุหลักของปัญหาสุนัขจรจัด
ฉะนั้น การให้การศึกษาเพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยง และเพื่อให้เข้าใจว่าการทำหมันนั้นไม่ได้ขัดต่อหลักคำสอนของศาสนาพุทธ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ นอกจากนี้ การควบคุมจำนวนฟาร์มเพาะสุนัข ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน
เป็นที่จับตามองว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมสัตวแพทย์ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งรับผิดชอบในด้านการดูแลสุนัขจรจัดของประเทศ ได้ไปเยี่ยมซอยด๊อกที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 วัน เพื่อศึกษาวิธีการทำงาน และได้เรียนรู้ว่านโยบายการจับสุนัขมาฆ่าเพื่อลดประชากรสุนัข ซึ่งมีมาหลายปีนั้นไม่มีประโยชน์ และได้เปลี่ยนนโยบายมาเป็นการจับ ทำหมัน ฉีดวัคซีน และปล่อยกลับสู่ที่เดิม โดยทำงานร่วมกับองค์กรด้านสวัสดิภาพสัตว์ในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด
ประเทศสิงคโปร์มีสุนัขจรจัดเพียงประมาณ 10,000 ตัว อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีสุนัข 10,000 ตัว หรือ สิบล้านตัว (ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการณ์จำนวนสุนัขจรจัดในไทย) วิธีการในการจัดการก็ไม่ต่างกันแต่อย่างใด
และครั้งนี้ ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ซอยด๊อกจะขอให้ภาครัฐ ทั้งกทม.เองและหน่วยงานท้องถิ่นในจังหวัดอื่นๆ ลองทบทวนและเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา และหันมาผสานความร่วมมือกันในการทำภารกิจควบคุมประชากรสุนัขด้วยการจับ ทำหมัน ฉีดวัคซีน และปล่อยกลับสู่ที่เดิม รวมถึงการจัดการขยะ ซึ่งแม้จะใช้ระยะเวลานานแต่ได้ผลจริงและยั่งยืน