เคสหายาก เด็ก 7 ขวบ มีฟัน 526 ซี่! ต้องดมยาสลบ ถอนฟันมาราธอน
เห็นภาพเอ็กซเรย์แล้วคันหัวยิบๆ โรงพยาบาลในประเทศอินเดีย รายงานเคสสุดแปลก เด็กชายวัย 7 ขวบมีฟันขึ้นผิดปกติถึง 526 ซี่ในช่องปาก โดยเด็กชายคนนี้เข้ารับการรักษาที่เมืองเจนไน ทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากมีอาการบวมและปวดบริเวณฟันกรามด้านล่างขวา
นพ. ประติภา รามานี หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยาช่องปากและใบหน้าขากรรไกร โรงพยาบาลวิทยาลัยทันตกรรมสวิตากล่าวว่า จากการสแกนและเอกซเรย์ช่องปาก พบถุงฝังอยู่ในขากรรไกรล่าง ภายในถุงดังกล่าวเต็มไปด้วย “ฟันที่ผิดปกติ”
แม้การผ่าตัดเพื่อเอาฟันออกจะเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ทีมแพทย์ต้องใช้เวลาตรวจสอบฟันแต่ละซี่อย่างละเอียด ก่อนจะยืนยันจำนวนที่พบ
หลังจากผ่าตัดเอาถุงดังกล่าวออก ทีมของ นพ. รามานี ใช้เวลากว่า 4-5 ชั่วโมง เพื่อนำฟันทั้งหมดออกมา พบว่ามีฟันขนาดเล็กมากถึง 526 ซี่ ตั้งแต่ขนาด 0.1 มิลลิเมตร ไปจนถึง 15 มิลลิเมตร แต่ละซี่มีครอบฟัน รากฟัน และเคลือบฟันสมบูรณ์
เด็กชายคนนี้ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลหลังผ่าตัด 3 วัน และคาดว่าจะฟื้นตัวเต็มที่
นพ. รามานี กล่าวว่าเด็กชายมีอาการป่วยที่หายากมาก เรียกว่า คอมพาวด์ คอมโพสิท โอดอนโตมา สาเหตุยังไม่ชัดเจน แต่อาจเกิดจากพันธุกรรมหรือปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น รังสี
พ่อแม่ของเด็กชายสังเกตเห็นอาการบวมที่ขากรรไกรของลูกชายตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะลูกชายไม่ยอมอยู่นิ่งให้หมอตรวจ
นพ. พี. เซนทิลนาธาน หัวหน้าภาควิชาศัลยกรรมช่องปากและใบหน้าขากรรไกร และหนึ่งในศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด อธิบายขั้นตอนการผ่าตัดว่า “เด็กต้องดมยาสลบ เราเจาะเข้าไปในขากรรไกรจากด้านบน โดยไม่ทำลายกระดูกด้านข้าง หมายความว่าไม่จำเป็นต้องทำศัลยกรรมเพื่อสร้างกระดูกใหม่ ถุงดังกล่าวถูกนำออกไป ซึ่งภายในมีฟันเล็กๆ จำนวนมากอยู่”
นพ. เซนทิลนาธานเตือนว่า หากประชาชนเห็นความผิดปกติทางช่องปาก ควรไปพบหมอฟันเพื่อรักษาปัญหาทางทันตกรรมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
สำหรับเคสนี้ ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เด็กชายคนนี้มีฟันที่แข็งแรงเหลืออยู่ 21 ซี่ นพ. เซนทิลนาธาน กล่าว
ข้อมูลจาก : CNN
ภาพจาก : Saveetha Dental College and Hospital
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอฟันสาวเผย ช่วงเวลาใดอย่า “แปรงฟัน” หลังให้โทษมากกว่าประโยชน์
- หมอเฉลยแล้ว ดื่มน้ำตอนเช้า ก่อนแปรงฟัน ทำให้แบคทีเรียลงกระเพาะหรือไม่
- วิธีแปรงฟันแห้ง ป้องกันฟันผุ เพิ่มฟลูออไรด์ เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดียิ่งขึ้น
- ‘ถอนฟัน’ มีโอกาส ‘เสียชีวิต’ ได้จริงหรือ ปัจจัยใกล้ตัวที่ห้ามมองข้าม