ข่าว

วิธีช่วยชีวิต ‘คนถูกไฟดูด’ อ.เจษฎา แนะ “อย่าถีบ” เด็ดขาด เสี่ยงตายเพิ่ม

อาจารย์เจษฎา แนะนำวิธีการช่วยชีวิต คนโดนไฟดูด ที่ถูกต้อง ปลอดภัยกับทั้งเหยื่อและคนช่วย ย้ำห้ามกระทำสิ่งนี้? ถ้าไม่อยากถูกไฟดูดแทน

จากกรณีเหตุสลดภายในโรงเรียนแห่งหนึ่ง จ.ตรัง นักเรียนถูกไฟดูดเสียชีวิตคาตู้กดน้ำดื่ม เพราะไฟรั่ว ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพต์เฟซบุ๊กแนะนำวิธีการช่วยเหลือ คนถูกไฟดูด ที่ถูกต้องและปลอดภัยกับทั้งเหยื่อ รวมถึงคนที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยระบุว่า

Advertisements

การใช้เท้าถีบไปที่ร่างของคนที่กำลังโดนไฟดูดอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากจะทำให้คนช่วยนั้นกลายเป็นคนที่ถูกไฟดูดไปด้วย ควรหาสิ่งที่ไม่นำกระแสไฟฟ้า แห้ง ไปเขี่ยสายไฟ หรือสิ่งที่เป็นจุดทำให้เกิดไฟดูดให้ออกจากร่าง อีกทั้งต้องรักษาระยะห่างจากตัวผู้ถูกไฟดูดด้วย เพราะหากรีบร้อนเข้าไปจับตัวอาจจะโดนดูดไปด้วยก็ได้ ทางที่ดีควรตั้งสติและหาทางตัดกระแสไฟฟ้า เช่น ปิดสวิตซ์ หรือสับคัตเอาท์ หลังจากนั้นค่อยทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ระหว่างรอเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาให้ความช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาล

“ไม่จำเป็น ไม่ควรใช้วิธี “ถีบ” ช่วยคนถูกไฟฟ้าดูด” ครับ

จากที่โพสต์แนะนำไป เกี่ยวกับกรณีที่มีเด็กนักเรียนเสียชีวิต เนื่องจากถูกไฟฟ้าจากตู้กดน้ำดื่ม ดูดเอาและได้รับการช่วยเหลือไม่ทัน … มีคำถามในคอมเม้นต์ว่า แล้วที่เคยสอนกัน “ให้กระโดดถีบ ช่วยคนที่ถูกไฟฟ้าดูด ให้หลุดออกไปนั้น” ยังเป็นวิธีที่ควรทำอยู่หรือไม่ ?

คำตอบสำหรับผม คือ ไม่แนะนำให้ทำครับ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายตามมา ทั้งกับคนที่เข้าไปช่วยถีบ และคนที่ถูกถีบ

Advertisements

เรื่องนี้ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS เคยทำเป็นคำถามในรายการ “คิดสิต้องรอด” โดยถามว่า ถ้าเห็นคนโดนไฟดูด จะทำอย่างไร ? ระหว่าง 1. วิ่งเข้าไปกระโดดถีบ 2. ใช้ไม้เขี่ยสายไฟ และ 3. ใช้ผ้าคล้องไปที่ตัว แล้วดึงเพื่อนออกมา … วิธีไหนที่ช่วยคนถูกไฟดูดให้ปลอดภัย และเราเองก็ปลอดภัยด้วย (ดูลิงค์ในคอมเม้นต์)

โดยทางรายการได้อธิบายว่า “การกระโดดถีบ” จะเป็นช่วยทำให้คนที่ถูกไฟดูดอยู่ สามารถหลุดออกจากสายไฟได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นการช่วยที่เสี่ยงมากเช่นกัน เพราะอาจจะทำให้คนที่หลุดออกไปจากไฟดูด ไปกระแทกของที่อยู่ด้านหลัง จนได้รับบาดเจ็บ ! (อันนี้ เคยมีข่าวมาแล้ว คือ ไปถีบคนที่ถูกไฟดูดขณะยืนบนบันได แล้วถีบจนตกบันได ลงมากระแทกพื้นเสียชีวิตแทน) หรือดีไม่ดี เรากระโดดถีบเค้าออกไป แล้วเราก็ตกลงทับสายไฟที่รั่วอยู่ กลายเป็นเราถูกไฟดูดตายไปเอง !

ทางรายการแนะนำวิธีการ “ใช้ไม้เขี่ยสายไฟ” โดยเมื่อพบคนถูกไฟฟ้าดูด ให้หาไม้ หรือพลาสติก หรืออุปกรณ์ที่เป็นฉนวนไฟฟ้า และต้องแห้งเท่านั้น นำมาเขี่ยสายไฟหรืออุปกรณ์ที่ปล่อยกระแสไฟฟ้า เขี่ยให้หลุดออกจากตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูด (ซึ่งเด็กๆ ที่มาร่วมรายการ สามารถใช้วิธีนี้ช่วย “หุ่นที่ถูกไฟดูด” ได้สำเร็จใน 5 วินาที)

ส่วนวิธี “ใช้ผ้าที่คล้องที่ตัว และดึงเพื่อนออกมา” นั้น ผ้าเป็นฉนวนที่ไฟฟ้าไหลผ่านไม่ได้ก็จริง แต่ต้องใช้ผ้าที่แห้ง และยาวพอที่จะโยนให้คล้องเข้ากับเป้าหมาย และดึงกระชากออกมา ซึ่งถ้าฝีมือไม่ถึง หรือพลาดไปสัมผัสโดนคนที่ถูกไฟดูดเข้า วิธีนี้ก็เสี่ยงทำให้เราถูกไฟฟ้าดูดไปด้วย เรากับเพื่อนก็จะไม่รอดทั้งคู่

ดังนั้น “ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ” ก็ไม่ควรใช้วิธีกระโดดถีบช่วยผู้ถูกไฟดูดครับ .. หรือถ้าต้องทำ ต้องดูว่าบริเวณข้างๆ ผู้ที่ถูกไฟดูดนั้น มีพื้นที่โล่งพอให้ผู้ป่วยล้มลงไปโดยไม่เจ็บตัวมากนัก ให้เลือกค่อยถีบช่วงก้น หรือสะโพก ให้เร็วแรงพอที่จะให้หลุดออกได้ในครั้งเดียว

แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรเลี่ยง “การกระโดดถีบ” แล้วมองหาสิ่งของที่เป็นฉนวน ไม่นำไฟฟ้า และแห้งไม่เปียกน้ำ ไปเขี่ยสายไฟหรือสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโดนไฟดูด ออกไปจากร่าง หรือเขี่ยมือ แขน หรือ เท้าของผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีไฟดูด

ที่สำคัญคือ ต้องรักษาระยะห่างจากผู้ถูกไฟดูด อย่าพึ่งรีบร้อนเข้าไปช่วย เพราะอาจจะสัมผัสโดนร่างกายของผู้ที่ถูกไฟดูดไปด้วย ควรตั้งสติ สังเกตก่อนว่าไฟฟ้าที่รั่วออกมาดูดนั้น มาจากที่ใด จะได้ไม่เข้าใกล้จุดนั้น และหาทางตัดไฟฟ้าให้ได้ (เช่น ปิดสวิตช์ หรือสับคัตเอาท์) ตลอดจนควรที่จะต้องใส่รองเท้าด้วยก่อนเข้าไปช่วย

(เพิ่มเติม) ส่วนวิธีการปฐมพยาบาลนั้น เริ่มจากตรวจดูว่าผู้ป่วยยังมีสติแค่ไหน / ถ้า “ยังมีสติ” ครบถ้วน ให้นอนพัก ตรวจร่างกายคร่าวๆ ว่ามีบาดแผลร้ายแรงหรือไม่ มีรอยไฟไหม้ที่บริเวณใดหรือเปล่า / แต่ถ้า “หมดสติ” และ “ไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ” ให้รีบทำการ ปั๊มหัวใจผายปอด CPR โดยด่วน / จากนั้น ให้รีบนำส่งแพทย์ หรือโทรแจ้ง สายด่วนกู้ชีพ 1669″

วิธีช่วย คนถูกไฟดูด ที่ถูกต้อง

อีกทั้งก่อนหน้านี้หลังจากเกิดเหตุการณ์สลดขึ้น อาจารย์เจษฎา ก็ได้โพสต์ข้อความพูดถึงเรื่องการโดนไฟดูดเช่นนี้ที่เกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งโรงเรียน หน่วยงาน และสถานที่ต่างๆ ที่มีการติดตั้ง “ตู้น้ำดื่ม” ดังกล่าว ควรใส่ใจกับมาตรฐานและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้ยกข้อควรปฏิบัติ รวมไปถึงข้อควรระวังในการติดตั้ง ตู้กดน้ำดื่ม เอาไว้ให้ประชาชนได้อ่านและทำความเข้าใจ ดังนี้

ข้อควรปฏิบัติของการวางตู้น้ำเย็นบริโภคให้ปลอดภัย” ของกระทรวงอุตสาหกรรม มาให้อ่านกันนะครับ

  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่แสดงเครื่องหมาย มอก.
  • ติดตั้งในบริเวณที่แห้ง ฝนสาดไม่ถึงและไม่ถูกแสงแดด
  • มีการเชื่อมต่อสายดิน
  • ที่ตั้งของเต้ารับหรือขั้วต่อจะต้องอยู่บนกำแพงหรือวางให้พ้นมือเด็ก
  • เต้าเสียบหรือขั้วต่อ ต้องแน่นไม่หลวมง่าย
  • มีการติดตั้งระบบป้องกันไฟรั่ว
  • หมั่นตรวจสอบความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ

ข้อควรระวัง

  1. หากใช้แล้วเกิดความร้อน มีประกายไฟ ควรหยุดใช้งานทันที เพระอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  2. เพื่อความปลอดภัย ต้องเลือกใช้ตู้น้ำเย็นบริโภค ที่ได้รับการรับรองคุณภาพจาก มอก. เท่านั้น
ข้อปฏิบัติของการวาง ตู้กดน้ำดื่ม อย่างปลอดภัย
ภาพจาก : FB Jessada Denduangboripant

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : FB Jessada Denduangboripant

GIFT T.

Rewriter สาวจากรั้วสวนดุสิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวมากว่า 5 ปี ชื่นชอบการส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หวย และข่าวบันเทิง พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักอ่านได้เห็นประเด็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button