เตือนภัย ซื้อของมือสองออนไลน์ อาจเป็นแพะ รับซื้อของโจร เช็กให้ชัวร์ 4 วิธีง่าย ๆ
เตือนภัยสายช็อป ซื้อสินค้ามือสองทางออนไลน์ ระวังตกเป็นแพะรับซื้อของโจร ละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 แนะ 4 วิธีเช็กให้ชัวร์ ก่อนโอนเงิน
ในยุคที่เทรนด์แฟชันเปลี่ยนผันไปอย่างรวดเร็ว การจะตัดสินใจซื้อสินค้าสักชิ้นอาจจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยหลาย ๆ ประการ ทั้งความคุ้มค่าในด้านการใช้งาน ราคา และสมัยนิยม ด้วยเหตุนี้จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกซื้อสินค้ามือสองแทน เหตุเพราะราคาถูกกว่า แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เสี่ยงทีถูกมิจฉาชีพหลอดเงิน และในบางกรณีอาจร้ายแรงถึงขั้นตกเป็นแพะ รับซื้อของโจร
วันที่ 20 มิถุนายน 2567 เพจเฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย โพสต์เตือนภัยสายช็อป โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อสินค้ามือสองผ่านทางออนไลน์ อาจรับซื้อของโจรโดยไม่รู้ตัว โดยโพสต์ดังกล่าวได้ระบุข้อความไว้ว่า
“ซื้อของมือสองออนไลน์ ระวังเป็นแพะรับซื้อของโจร เมื่อพูดถึงสินค้าแบรนด์เนมไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า นาฬิกา หรือเครื่องประดับ ต่างเป็นสินค้าที่ช่วยเสริมบุคลิกแก่ผู้เป็นเจ้าของ ทำให้เราอยากมีสินค้าแบรนด์เนมไว้ในครอบครองให้ชื่นใจสักครั้ง ด้วยความเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ทำให้บางท่านมองหาสินค้าแบรนด์เนมมือสอง ซึ่งมีราคาถูกกว่าโดยไม่รู้ว่า สินค้านั้นมีที่มาอย่างไร อาจเป็นสินค้าที่ได้มาจากการกระทำความผิดของเหล่ามิจฉาชีพก็ได้”
สิ่งที่ควรทำก่อนตัดสินใจซื้อ
ไม่เพียงเท่านั้น ทางเพจศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ยังได้แนะนำ 4 วิธีในการตรวจสอบที่มาที่ไปของสินค้ามือสอง ก่อนตัดสินใจสั่งซื้อทางออนไลน์ โดยมีวิธีดังนี้
1. ดูความน่าเชื่อถือของร้านว่า เป็นสินค้าที่ได้มาอย่างถูกต้อง
2. สอบถามจากพ่อค้าและแม่ค้าถึงที่มาของสินค้าอย่างละเอียด
3. สินค้าประเภทที่มีใบรับรองสินค้า ให้ขอใบรับรองสินค้าเสมอ
4. ตรวจสอบรหัสสินค้าจากเว็บไซต์ของสินค้าว่า ตรงตามรุ่นหรือไม่ และมีอุปกรณ์ครบถ้วนหรือไม่
เหตุที่การซื้อสินค้ามือสองทางออนไลน์อันตรายกว่าการสั่งซื้อทั่ว ๆ ไป เป็นเพราะการซื้อขายส่วนมากจะทำผ่านระบบออนไลน์ ผู้ซื้อ ผู้ขายไม่เห็นหน้ากัน และไม่ได้เห็นสินค้าโดยตรง ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังมากขึ้นเป็นเท่าตัว วิธีที่ดีที่สุดคือการตรวจสอบประวัติการซื้อขายของบุคคล หรือร้านค้าให้ดีก่อน
หากสินค้าที่ซื้อมานั้นเป็นสินค้าที่ได้มาจากการกระทำความผิดแล้ว ผู้ซื้ออาจตกเป็นผู้ต้องหาที่เข้าข่ายกระทำความผิดฐาน “รับของโจร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
ทั้งนี้ หากประชาชนท่านต้องการแจ้งข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสข่าวปลอม สามารถแจ้งเรื่องเข้ามาได้โดยตรงผ่าน ช่องทาง Inbox ของเพจ Anti-Fake News Center
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กฟภ เตือน เปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าดิจิทัล ทำค่าไฟขึ้น เป็นข่าวปลอม
- เตือนภัย มิจฉาชีพหน้าห้าง อ้างตู้กินแบงก์พัน หลอกโอนเงินเหยื่อใจบุญ
- มุกใหม่มิจฉาชีพ หลอกเปิดวีดีโอคอล ขอรหัสเข้าแอปฯ ธนาคาร ด้วยการกดรหัส *131*