ข่าว

อ.เจษฎา แจง หนุ่ม-สาว ดับคารถหลังจอดนอน ชี้ได้รับก๊าซพิษ ไม่ได้ขาดอากาศหายใจ

อ.เจษฎา แจงเหตุ หนุ่ม-สาว จอดรถนอนหลับเสียชีวิต ชี้ไม่ได้ตายเพราะขาดอากาศหายใจ แต่ได้รับก๊าซพิษเป็นเวลานาน จนร่างกายขาดออกซิเจน

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุพบศพ ชาย-หญิง นอนเสียชีวิตอยู่ภายในรถยนต์ซึ่งจอดอยู่ภายในซอยพัฒนาการ 12 สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิตน่าจะมาจากการขาดอากาศหายใจ เนื่องจากไม่พบร่องรอยหรือบาดแผลบนร่างของผู้เสียชีวิต อาจเป็นเพราะทั้งคู่ติดเครื่องยนต์เพื่อเปิดแอร์ภายในรถเอาไว้ ก่อนจะนอนหลับไปกระทั่งน้ำมันหมด และพบว่าเสียชีวิต

หนุ่ม-สาว เสียชีวิตคารถ หลังติดเครื่องแล้วนอนหลับ

ล่าสุด 19 มิ.ย. 67 อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเคลื่อนไหวผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตของเคสชาย-หญิงคู่นี้ ระบุว่า ไม่ควรใช้คำว่า “ขาดอากาศหายใจ” เพราะจะทำให้คนเข้าใจว่าภายในรถมีอากาศไม่เพียงพอต่อการหายใจ ทำให้เสียชีวิต

ความจริงแล้วมันเกิดจากการที่ก๊าซพิษ อย่าง คาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่ได้รับการถ่ายเทออก เนื่องจากรถถูกติดเครื่องยนต์แต่จอดอยู่นิ่ง ๆ และเมื่อนอนในรถที่จอดติดเครื่อง ไม่เปิดกระจก ก็ทำให้ร่างกายได้รับก๊าซพิษชนิดนี้มากและนานเกินไป จนร่างกายขาดออกซิเจน เป็นเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด

เคส “นอนเปิดแอร์ เสียชีวิตคารถ” อันนี้ ก็น่าจะจากการได้รับก๊าซพิษ คาร์บอนมอนอกไซด์ อีกล่ะครับ
นักข่าวโทรมาถามตอนเช้า ถึงข่าวน่าเศร้า ที่มีผู้เสียชีวิตระหว่างนอนหลับในรถยนต์ที่จอดติดเครื่องไว้นาน จนกระทั่งน้ำมันหมด รถดับไปเอง .. ว่าเป็นผลจากการขาดอากาศหายใจ นอนนานเกินไป ใช่หรือไม่ ? (ดูลิงค์ข่าวในคอมเม้นต์ด้านล่าง)

ก็ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตด้วยนะครับ .. ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต (ซึ่งต้องรอการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการจากแพทย์ด้วย) ผมคิดว่า ก็คงคล้ายกับรายอื่นๆ ก่อนหน้านี้ คือได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide) หายใจเข้าไประหว่างที่หลับ เม็ดเลือดแดงทำงานผิดปรกติ ร่างกายขาดก๊าซออกซิเจน จนเสียชีวิต …

… ไม่ควรใช้คำว่า “ขาดอากาศหายใจ” ที่ทำให้เข้าใจผิดไปว่า ในรถ ไม่มี “อากาศ” เหลือให้หายใจ
ตามรายงานข่าวระบุว่า ในช่วงเวลาประมาณ 03.00 น. เมื่อร้านอาหารปิด ผู้เสียชีวิตทั้งคู่ซึ่งมีอาการเมา ได้เข้าไปนั่งในรถ สตาร์ทรถเปิดแอร์ทิ้งไว้ จนกระทั่งช่วงค่ำของวันต่อมา ญาติถึงได้มาดูที่รถ พบว่าทั้งคู่เสียชีวิตไปแล้ว คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง เบื้องต้นไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย และในรถไม่มีร่องรอยการรื้อค้น ประตูรถปิดล็อกทั้ง 4 บาน กระจกไม่ได้เปิด เพื่อให้อากาศระบาย

และข่าวระบุด้วยว่า เบื้องต้นตำรวจสันนิษฐานว่า ทั้งคู่ขาดอากาศหายใจ เนื่องจากเชื้อเพลิงที่ใช้เป็นน้ำมันเบนซิน และสตาร์ตรถจนน้ำมันหมดถัง แล้วเครื่องยนต์จึงดับ จนทำให้ทั้งคู่ขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต

แต่ลักษณะตามข่าวดังกล่าวนี้ ผมเชื่อว่า น่าจะมาจากการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่มาจากเครื่องยนต์ที่สันดาปเผาไหม้เชื้อเพลิงอย่างไม่สมบูรณ์ รั่วซึมเข้ามาในห้องโดยสารรถ ซึ่งไม่ได้เปิดกระจกระบายอากาศไว้ ทำให้ก๊าซเป็นพิษต่อเลือด และเสียชีวิตได้ในที่สุด

ข้อมูลจากโรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายเรื่อง “ทำไมเปิดแอร์นอนในรถยนต์ถึงเสียชีวิต?” ไว้ว่า โดยปกติ ขณะที่รถยนต์ขับเคลื่อนไปบนท้องถนน จะมีการไหลเวียนของอากาศภายนอกและภายในอยู่เสมอ ด้วยการถ่ายอากาศเสียออกทางท่อไอเสีย แล้วรับอากาศที่ดีเข้ามา

แต่ถ้าหากรถยนต์จอดสนิท แล้วติดเครื่องเอาไว้ เครื่องยนต์จะเกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ และทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ขึ้น โดยไม่มีการถ่ายเทออกไป อากาศเสียก็จะวนเวียนอยู่ภายใน ไม่ไปไหน ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เพราะก๊าซชนิดนี้จะไปแย่งออกซิเจนจับตัวกับเม็ดเลือดแดง ซึ่งจับได้ง่ายกว่าออกซิเจนหลายเท่า ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อไม่เพียงพอ ร่างกายจะขาดออกซิเจน และอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ เกิดอาการเลือดเป็นกรด ทำงานไม่ปกติ ซึม ชัก และเสียชีวิตในที่สุด

โดยระดับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายจะอยู่ที่ 1-200 ppm เมื่อได้รับเข้าไปในเวลา 4 ชั่วโมง ร่างกายจะเริ่มอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย และเวียนศีรษะ จากนั้นจะอยากนอน ซึ่งถ้านอนเปิดแอร์โดยไม่ดับเครื่องยนต์ก็จะยิ่งส่งผลเสียและเป็นอันตรายถึงชีวิต

สภาพของรถยนต์ ส่งผลต่อการเกิดก๊าซชนิดนี้ด้วยเช่นกัน โดยในรถยนต์เก่าหรือไม่มีการตรวจสภาพ จะเกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ สูงกว่าในรถยนต์ใหม่ หรือผ่านการตรวจสภาพอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้สูงกว่า อัตราการเสี่ยงของการเสียชีวิตจากการเปิดแอร์นอนจะสูงกว่า แต่ ไม่ว่าจะรถยนต์เก่าหรือใหม่ ก็ไม่ควรเปิดแอร์นอนหลับในรถยนต์ขณะที่จอดสนิทอยู่ดี เพราะก๊าซชนิดนี้ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น ทำให้ไม่มีทางรู้ตัวเลยว่าได้รับก๊าซชนิดนี้เข้าไปมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะขณะหลับ

ดังนั้น จึงไม่ควรนอนหลับในรถยนต์ที่ติดเครื่องยนต์ไว้ หรือหากจำเป็นต้องนอนจริงๆ ก็ให้เลือกจอดรถในพื้นที่โล่ง ที่อากาศถ่ายเทได้ และควรตั้งปลุกเวลานอน ให้งีบพักเพียงแค่ 15-20 นาที พอให้หายเหนื่อย อย่านอนหลับยาวครับ

อ.เจษฎา เลขเด็ด 1 6 66

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : FB Jessada Denduangboripant

GIFT T.

Rewriter สาวจากรั้วสวนดุสิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวมากว่า 5 ปี ชื่นชอบการส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หวย และข่าวบันเทิง พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักอ่านได้เห็นประเด็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button