ข่าว

“แก๊งมิจฉาชีพ พันผ้าผสมยาสลบ” อาจารย์เจษฎ์ ตอบชัด จริง หรือแค่คอนเทนต์

‘อาจารย์เจษฎา’ เปิดความจริง “แก๊งมิจฉาชีพ พันผ้าผสมยาสลบ” จากข่าวเตือนภัยที่ ‘พล.ต.ท.เรวัช’ พาเปิดแผน ชี้แนวทางมิจฉาชีพยุคใหม่ แท้จริงแล้วกลลวงนี้ได้ผลจริงหรือ?

จากประเด็นข่าวลือชวนวิตกที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เกี่ยวกับคลิปที่ พลตำรวจโท เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ออกมาเปิดแผน มิจฉาชีพยุคใหม่ ล็อคเป้าขับรถคนเดียว โดยระบุถึงกลลวง “แก๊งมิจฉาชีพ เอาผ้าผสมยาสลบ มามอมเหยื่อ” ผู้หญิงหรือบุคคลที่ขับรถเดินทางคนเดียว ต้องระวังแก็งมิจฉาชีพเอาผ้าที่พ่นสเปรย์ยาสลบมาพันที่กระจกข้างรถ เมื่อสัมผัสกับผ้า ยาสลบเข้าร่างกายส่งผลให้รู้สึกวิงเวียนมึนงง หลังเข้าไปในรถบรรดามิจฉาชีพจะบุกมาปล้นจี้

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาชี้แจงความจริงในประเด็นนี้ หวังช่วยคลายกังวลให้กับผู้ขับขี่ทั้งหลาย โดยเผยว่า ข่าวลือที่ว่าแก๊งมิจฉาชีพใช้ผ้าพ่นสเปรย์ยาสลบมาพัน เพื่อหลอกปลดทรัพย์ คาดว่าอาจเป็นแค่ข่าวลือ เพราะกลลวงดังกล่าวคล้ายคลึงกับข่าวปลอมที่แพร่สะพัดมานานเป็นสิบ ๆ ปี ที่อ้างว่า พ่นสเปรย์คลอโรฟอร์ม ยาสลบตบทรัพย์ หรือ นามบัตรเคลือบยาสลบ

มิจฉาชีพ โปะยาสลบ ตบทรัพย์
ภาพจาก : Jessada Denduangboripant

สเปรย์ยาสลบ เป็นสารคลอโรฟอร์ม (chloroform) เมื่อราว ๆ 100 ปีที่แล้ว เคยเป็นสารที่เคยใช้เป็นยาสลบในวงการแพทย์ แต่ปัจจุบันวิสัญญีแพทย์ได้เลิกใช้ไปแล้ว เพราะต้องใช้ความเข้มข้นสูง ดมเป็นเวลานาน มีกลิ่นที่ไม่น่าดม และมีผลกระทบเชิงลบ สูง ที่สำคัญคือถ้าจะใช้คลอโรฟอร์มเป็นยาสลบนั้นต้องใช้ในพื้นที่ปิด ต้องหายใจเข้าไปมากและนานเพียงพอ ไม่ใช่แค่พ่นใส่หน้า หรือโดนโปะผ้าที่ชุบคลอโรฟอร์ม เพราะจริง ๆ ต้องโปะดมนานถึง 5-10 นาที

ประกอบกับเมื่อสืบค้นเพิ่มเติมจากประวัติอาชญากรรมในประเทศไทยก็ไม่พบว่า มีข่าวกรณีของคนร้ายตบทรัพย์ด้วยการใช้สเปรย์ยาสลบ ไม่ว่าจะพ่นใส่หน้าตรง ๆ หรือจะเอามาพ่นที่ผ้า แล้วเอาไปพันกระจกรถ และหากมีการทำเช่นนั้นจริง เพียงแค่ถือผ้าขึ้นมาก็ได้กลิ่นฉุนจากสารเคมีแล้ว และก็คงจะโยนทิ้ง ไม่มีใครเอามาโปะหน้าตัวเอง หรือทนหายใจต่อ

ทั้งนี้ อัปเดตล่าสุด (19 มิถุนายน 2567) ‘อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์’ โพสต์เกี่ยวกับประเด็นนี้อีกครั้ง โดยระบุว่า เจอคลิปต้นทางที่ทำให้ข่าวคราวการใช้ยาสลบตบทรัพย์แพร่ออกไป หลังพิจารณาจากคลิปคาดว่าเป็นเหตุการณ์ในต่างประเทศ ซ้ำยังชัดเจนว่าเป็นการตั้งกล้องทำคอนเทนต์ ไม่ใช่ภาพจากกล้องวงจรปิดแต่อย่างใด สรุปได้ว่ายังไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันว่ามีแก๊งมิจฉาชีพประเภทนี้อยู่จริง

มิจฉาชีพ โปะยาสลบ ตบทรัพย์
ภาพจาก : Jessada Denduangboripant

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นเพียงข่าวลวง แต่ทุก ๆ ครั้งที่ไปจอดรถตามสถานที่ต่าง ๆ ควรจะตรวจสอบรอบรถให้มั่นใจ เพื่อเช็กความปลอดภัย รวมทั้งรอบ ๆ นั้น มีบุคคลน่าสงสัยซุ่มอยู่หรือไม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button