พ่อกลุ้ม ท้าลูก เรียนดีแลกมือถือใหม่ สุดท้ายทำได้ แต่พ่อไม่มีเงินซื้อ
คนเป็นพ่อโพสต์ขอคำแนะนำชาวเน็ต ลูกตั้งใจเรียนเพื่อแลกกับการซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ให้ สุดท้ายพ่อทำตามสัญญาไม่ได้ หาเรื่องโกหกลูกต่อ เจอโซเชียลถล่ม ‘เป็นพ่อก็ควรพยายามให้ได้เหมือนลูก’
หน้าที่ความรับผิดชอบของคนเป็นพ่อแม่ในแต่ละครอบครัวก็คงจะแตกต่างกันออกไป แต่ที่แน่ ๆ การรับผิดชอบต่อความรู้สึกของลูกเป็นสิ่งที่พ่อแม่พึงกระทำอย่างมากที่สุด ทว่ามีชาวเน็ตรายหนึ่งเขาได้โพสต์ข้อความเพื่อขอคำปรึกษากับเพื่อนสมาชิกในกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า ความรู้รอบตัว
เจ้าของโพสต์รายนี้เป็นคุณพ่อเขาได้สอบถามชาวเน็ตว่า ควรทำอย่างไรดีเมื่อเขาให้สัญญากับลูกชายเรื่องการซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ให้ หากลูกมีผลการเรียนที่น่าพอใจ สุดท้ายลูกเขาทำตามสัญญาได้สำเร็จด้วยเกรดเฉลี่ย 3.62 จากเด็กติดเกมมือถือ กลายเป็นคนตั้งใจเรียนจนสอบได้ที่ 5 ของห้อง แต่พ่อกลับไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้เนื่องจากสภาพไม่คล่องทางการเงิน ทั้งยังถามสมาชิกท่านอื่น ๆ อีกว่าเขาควรจะหลอกลูกต่อไปอีกดีหรือไม่
ขออนุญาติปรึกษาครับ ตอนนี้กำลังทะเลาะกับลูกชาย ป.2 เมื่อก่อนเค้าเป็นคนเรียนไม่เก่ง ติดเกม วันหนึ่งมือถือเค้าหน้าจอแตกเค้ามาขอผมให้ซื้อใหม่ให้ ผมเลยบอกเค้าไปว่า ให้ตั้งใจเรียนให้เกรดดีๆ ป๊าจะซื้อใหม่ให้
ผลคือ เค้าสอบได้ 3.62 มาอยู่ราวๆ อันดับ 5 ของห้อง ผมตกใจมาก ไม่คิดว่าเค้าจะทำได้เพราะเล่นเกมทั้งวัน
เค้าก็มาทวงผมใหญ่เลย ทั้งที่สถานะการเงินผมตอนนี้ไม่ดี มาก ค่าเทอมยังต้องผ่อน เค้าเอาแต่น้อยใจบอกว่า ไม่อยากตั้งใจเรียน แล้ว ไม่รักป๊า แล้ว ผมควรจะทำยังไงกับเขาดีครับ อยากให้เขาเข้าใจ เงินหลักพันวันนี้ สำหรับผู้ใหญ่ ก็หายาก ยิ่งเชียงใหม่ ค่าแรงก็ต่ำมาก หรือผมควรหลอกเขาว่า ให้ทำให้ได้ 4.0 ถึงจะให้ดีครับ
โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมากจากสมาชิกที่อยู่ในกลุ่ม โดยมีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นมากถึง 4 พันคอมเมนต์ ซึ่งส่วนใหญ่กลับต่อว่าคนเป็นพ่อที่ให้ความหวังลูกแต่กลับไม่พยายามทำตามสัญญา ทั้งที่ลูกก็มีความพยายามและตั้งใจมากขนาดนั้นจนทำมันสำเร็จ หรือหากสภาพคล่องทางการเงินไม่พร้อมควรบอกลูกไปตรง ๆ ตั้งแต่แรกไม่ควรหาวิธีอื่น ๆ มาหลอกเขาอีก จะทำให้เด็กรู้สึกผิดหวังกับคนเป็นพ่อมากขึ้นเรื่อย ๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คุณพ่อขั้นเทพ ปั้นโมเดล “ลิซ่า” ให้ลูกสาว 4 ขวบ คนแห่ชมสมจริงยันกล้ามเนื้อ
- สพฐ. ยัน นักเรียนซ้ำชั้นได้ เป็นอำนาจโรงเรียน แก้ปัญหานักเรียนไม่ตั้งใจเรียน
- มธ. ยอมรับ “ข้อสอบครูผู้ช่วย 67” บกพร่อง แจกข้อฟรี เอกคณิตสูงสุด 11 คะแนน ยืนยันโปร่งใส่ เท่าเทียมกัน