ข่าว

อย.พบสารอันตราย ‘ไซบูทรามีน’ ในอาหารเสริมกล่องแดงยี่ห้อดัง ดาราพรีเซนเตอร์

สำนักงานกรรมการอาหารและยา (อย.) สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดน้ำหนักแบรนด์ดัง พบสารอันตราย “ไซบูทรามีน” จ่อเรียกผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี พบมีดาราดังเป็นพรีเซนเตอร์

วันที่ 5 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 12.00 น. เพจเฟซบุ๊กของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โพสต์ข้อความพร้อมด้วยรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง ที่มีคนในวงการบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์ โดยระบุว่า ได้ตรวจพบสารอันตรายอย่าง ‘ไซบูทรามีน’ ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ และอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระผิด

Advertisements

“ข่าวประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหาร อย. ตรวจพบไซบูทรามีน ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วันที่ผลิต MFG : 10/01/2024 วันหมดอายุ EXP : 09/01/2026 จึงขอประกาศให้ประชาชนระมัดระวังในการซื้อหรือบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว ทั้งนี้ อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด”

อย.ตรวจพบ ไซบูทรามีน ในอาหารเสริมกล่องแดง
ภาพจาก : FB FDA Thai

ก่อนหน้านี้ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวซึ่งมีคู่รักนักแสดงเป็นพรีเซนเตอร์เคยถูก นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นเรื่องร้องทุกข์ที่บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. ในข้อหาที่สองสามีภรรยาคนดังโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงว่าทานอาหารเสริมแล้วจะสามารถลดน้ำหนักได้ 15 กก.ภายใน 2 เดือน ซึ่งเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน

ไซบูทรามีน คืออะไร

ไซบูทรามีน คือ ยาที่ใช้รักษาโรคอ้วนหรือโรคอื่นที่มีสาเหตุมาจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป จัดเป็นยาอันตรายที่มีผลข้างเคียงรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากออกฤทธิ์ที่รุนแรง

ปัจจุบันยาชนิดนี้จัดให้เป็นยาที่ผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายในประเทศไทย แต่มักมีการลักลอบนำไปผสมในอาหารเสริมที่ช่วยลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนแล้วนำไปโฆษณาจนเกินความเป็นจริง จึงอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้

อันตรายที่เกิดจากการได้รับ ‘ไซบูทรามีน’ เข้าสู่ร่างกาย

ไซบูทรามีนจะเข้าไปยับยั้งการหลั่งของสารเคมีภายในร่างกาย ส่งผลให้ไม่อยากอาหารและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เวียนหัว, ปากแห้ง, นอนไม่หลับ

Advertisements

นอกจากนี้ ยาชนิดนี้ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอื่น เช่น โรคคลั่งผอม (Anorexia) ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคจิต ภาวะอารมณ์ดีกว่าปกติ (Mania) ภาวะซึมเศร้า และเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายได้

การใช้ไซบูทรามีนอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตหากมีโรคประจำตัวและกำลังใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะโรคและยาต่อไปนี้

  • โรคหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคตับ
  • โรคต้อหิน
  • โรคไต
  • ภาวะซึมเศร้า
  • โรคลมชัก
  • ภาวะเลือดไหลผิดปกติ
  • โรคนิ่วในถุงน้ำดี
  • ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)
  • โรคไทรอยด์
  • ภาวะความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรงหรือชนิดที่ไม่สามารถควบคุมได้
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาต้านเศร้า ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด ยารักษาไมเกรน ยาเสพติด และยากระตุ้นความอยากอาหาร

รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยานี้เช่นกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : FB FDAThai

GIFT T.

Rewriter สาวจากรั้วสวนดุสิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวมากว่า 5 ปี ชื่นชอบการส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หวย และข่าวบันเทิง พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักอ่านได้เห็นประเด็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button