ข่าว

เคสอุทาหรณ์ หญิงร่างกายแข็งแรง ป่วยเชื้อราเข้าปอด แพทย์ชี้ ‘ขี้นก’ เป็นเหตุ

‘นพ.มนูญ’ เล่าเคสอุทาหรณ์ หญิงร่างกายแข็งแรง ชอบให้อาหาร ‘นกพิราบ’ จู่ ๆ วันหนึ่ง ป่วยเชื้อราเข้าปอด แพทย์วินิจฉัย ตัวการคือ ‘มูล’ นกพิราบ แนะประชาชนหลีกเลี่ยงการให้อาหารนก

‘นกพิราบ’ พาหะนำโรคร้าย เหตุเพราะใน ‘มูล’ ของนก มีเชื้อรา “คริปโตคอคคัส (Cryptococcus neoformans)” ซึ่งเป็นที่มาของอาการป่วยต่าง ๆ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับเคสอุทาหรณ์ที่ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ได้โพสต์เล่าผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

ในโพสต์ดังกล่าว ‘นพ.มนูญ’ ระบุว่า ผู้ป่วยเป็นหญิง วัย 52 ปี ร่างกายแข็งแรง ไม่มีอาการโรคร้าย ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ด้วยความที่บ้านพักอยู่ในแหล่งที่มีนกพิราบจำนวนมาก ผู้ป่วยจึงมักให้อาหารนกอยู่เป็นประจำ โดยในวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา ผู้ป่วยไปตรวจร่างกาย ผลปรากฏว่ามีก้อนเล็ก ๆ มีโพรงเกิดขึ้นที่ปอดขวากลีบบน และหลังจากผ่าตัดปอดเอาก้อนเนื้อออก ผลพยาธิวิทยาชี้ว่า เป็นปอดอักเสบจากเชื้อราคริปโตคอคคัส สาเหตุมาจาก ‘มูลของนกพิราบ’

ติดเชื้อจากมูลนกพิราบ
ภาพจาก : หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

“ผู้ป่วยหญิงอายุ 52 ปี บ้านอยู่ กทม. ปกติแข็งแรงดี ไม่ไอ ไม่มีไข้ ไม่เบื่ออาหาร น้ำหนักไม่ลด ไม่ปวดหัว ไม่เคยสูบบุหรี่ ไม่มีโรคประจำตัว ไปตรวจร่างกายประจำปี วันที่ 12 พฤษภาคม 2567 เอกซเรย์ปอดพบก้อนเล็ก ๆ เกิดขึ้นใหม่ที่ปอดขวากลีบบน (ดูรูป) เอกซเรย์ปอดก่อนหน้านั้น 1 ปีปกติ ทำคอมพิวเตอร์ปอดพบก้อนขนาด 0.9 × 0.9 × 1.7 เซนติเมตร เห็นโพรงอยู่ข้างในก้อนที่ปอดขวากลีบบน (ดูรูป) ตรวจเลือดไม่ติดเชื้อเอชไอวี

ติดเชื้อจากมูลนกพิราบ
ภาพจาก : หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

ผู้ป่วยไปรับการผ่าตัดปอดเอาก้อนจากปอดขวากลีบบนออกที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมเพราะสงสัยมะเร็งปอด ผลพยาธิวิทยาเป็นปอดอักเสบจากเชื้อราคริปโตคอคคัส ตรวจเลือดหาคริปโตคอคคัสแอนติเจนหลังผ่าตัด 4 วันให้ผลบวก titer 1:8 แพทย์เริ่มให้การรักษาด้วยยา fluconazole ผู้ป่วยมาขอคำแนะนำหลังจากนี้ควรทำอย่างไรต่อไป

ซักประวัติ มีนกพิราบอยู่แถวบ้านหลายตัว ให้อาหารนกพิราบประจำ ผู้ป่วยรายนี้หายใจสปอร์ของเชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus Neoformans) จากมูลนกพิราบเข้าไปในปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบเป็นก้อนที่มีโพรงข้างใน โชคดีที่เชื้อราไม่ได้กระจายออกนอกปอดเนื่องจากร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันดี วางแผนให้ยาฆ่าเชื้อราฟลูโคนาโซลชนิดกินต่อไปประมาณ 6 เดือน แนะนำให้อยู่ห่าง และหลีกเลี่ยงให้อาหารนกพิราบ

ทั้งนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรอยู่ห่างจากนกพิราบ และหลีกเลี่ยงการให้อาหารนกพิราบ เหตุเพราะเชื้อดังกล่าวสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสมูลสัตว์ หรือการหายใจ และสูดดมละอองเชื้อราดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคต่าง ๆ และอาจนำไปสู่การป่วยโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button