ข่าวข่าวต่างประเทศ

All Eyes on Rafah คืออะไร หลังคนดังร่วมแชร์ภาพ จับตาสงครามปาเลสไตน์

อะไรคือ All Eyes on Rafah หลังคนดังหรือเพื่อนร่วมแชร์ภาพ โดยเป็นข้อความเชิญชวนจับตาเมืองผู้อพยพที่เป็นจุดสนใจของสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในขณะนี้

ช่วงนี้หากใครเล่นโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอินสตาแกรม น่าจะเห็นเพื่อนๆ หรือคนดังโพสต์ภาพไม่ว่าจะเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือ ภาพจริง และมีข้อความที่ระบุว่า All Eyes on Rafah (ทุกสายตาจับจ้องที่ราฟาห์) และมีคนแชร์ภาพนี้แล้วไปกว่า 47 ล้านครั้ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นว่าความหมายของภาพนี้คืออะไรกันแน่

Advertisements

โดยภาพดังกล่าวถูกโพสต์โดยคนดังระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ดูอา ลิป้า, เซอร์ ลูอิส แฮมมิลตัน, อาเรียนนา แกรนเด้ รวมถึง พราว รัมภาสิริ เทวกุล ณ อยุธยา บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังที่ได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวบน TikTok

@prouddevakula

ความหมายของ all eyes on rafah 🍉

♬ original sound – Proud Devakula (พราว)

สำหรับราฟาห์นั้น เป็นเมืองในปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของฉนวนกาซ่า ติดกับชายแดนอียิปต์ และเป็นเมืองที่ประชาชนชาวปาเลสไตน์ลี้ภัย หนีไฟสงคราม ที่ดำเนินมานานหลายเดือน โดยราฟาห์เป็นจุดสนใจในสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เนื่องจากมีความกังวลว่าทางอิสราเอลจะบุกเข้าไป และมีคำเตือนจากนานาชาติหลายครั้ง อย่างเช่นนาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เคยกล่าวว่า หยุดการสนับสนุนอาวุธให้อิสราเอล หากนาย เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลเปิดฉากบุกรุกเมืองราฟาห์ ซึ่งมีประชาชนลี้ภัยเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามโพสต์นี้เริ่มกลายเป็นจุดสนใจมากขึ้น เมื่อขีปนาวุธของทางอิสราเอลยิงถล่มใส่ค่ายผู้อพยพ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 45 ศพ และได้รับบาดเจ็บนับร้อยราย ในบรรดาผู้เสียชีวิตนั้นมีเด็กและสตรีรวมอยู่ด้วย โดยทางการในฉนวนกาซาและกาชาดปาเลสไตน์กล่าวตรงกันว่าจุดที่ขีปนาวุธตกใส่นั้นถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย

Advertisements

ขณะที่ทางการอิสราเอลอ้างว่าพวกเขาเล็งเป้าไปยังผู้นำของฮามาส 2 นาย ทางอิสราเอลระบุว่าพวกเขาทราบรายงานที่ว่าการโจมตีของทางอิสราเอลทำให้เกิดเพลิงไหม้และเป็นอันตรายกับประชาชน ก่อนที่ในเวลาต่อมา นาย เบนจามิน เนทันยาฮู จะออกมายอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่น่าเศร้า

กระแสตอบรับถึงภาพเอไอ All Eyes on Rafah

อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาพนี้จะมีการแชร์ต่อไปเป็นจำนวนมาก ดร.พอล ไรลีย์ อาจารย์อาวุโสด้านการสื่อสาร สื่อ และประชาธิปไตย ที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ได้แสดงความกังวลว่า ภาพดังกล่าวไม่ได้แสดงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา พร้อมชี้ว่าภาพที่ถ่ายจากสื่อมวลชน ไม่ได้เป็นไวรัลเช่นนี้ อย่างไรก็ดีด้วยความเป็น AI ก็มีข้อดี เพราะมันเป็นภาพที่ไม่มีความรุนแรง ไม่มีภาพน่ากลัว ทำให้แชร์ได้ง่าย ไม่ต้องกลัวโดนแบน

ขณะที่ shav4012 ชาวมาเลเซีย ซึ่งเป็นคนทำภาพนี้ขึ้นได้ให้สัมภาษณ์ว่าเขายอมรับถึงความผิดพลาดและความไม่พอใจที่เขาสร้างให้กับคนบางกลุ่ม แต่ภาพนี้ แต่ไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไร อย่ามองข้ามปัญหาในราฟาห์ ขอให้ช่วยเผยแพร่มัน และสร้างความสั่นกลัวให้กับอิสราเอล เพื่อที่พวกเขาจะไม่เผยแพร่อำนาจไปสู่คนอื่น

ทั้งนี้ทางอิสราเอลก็ไม่นิ่งเฉย และทำแคมเปญโต้ตอบ โดยระบุว่า “ตาของพวกคุณอยู่ไหนในวันที่ 7 ตุลาคม” ซึ่งเป็นการกล่าวถึงเหตุที่กองกำลังฮามาสบุกโจมตีทางตอนใต้ของอิสราเอลและฆ่าชีวิตประชาชนไป 1,200 ศพ และจับตัวประกันไปกว่า 252 ราย ในจำนวนนี้มีคนไทยรวมอยู่ด้วย

อ้างอิงจากกระทรวงสาธารณสุขฮามาส ระบุว่าปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตกว่า 36,170 ศพทั่วฉนวนกาซานับตั้งแต่สงครามทั้งสองฝ่ายเริ่มต้นขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button