ดีเลย์เซ็นเซอร์คืออะไร เครื่องลบภาพ-เสียง ไม่เหมาะสม ก่อนออกอากาศ
หลังจากที่ กสทช. สั่งพักรายการ “โหนกระแส” เหตุใช้คำหยาบและมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ช่อง 3 ทุ่มทุนหลักล้านซื้อเครื่อง “ดีเลย์เซ็นเซอร์” หวังตรวจสอบคำหยาบคายไม่ให้หลุดออกอากาศ นับเป็นรายการแรกในไทย ที่มีการใช้เทคโนโลยีนี้เข้ามาช่วยคัดกรองสคริปต์ ทีมงาน The Thaiger ได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เครื่องดีเลย์เซ็นเซอร์ ว่ามีหน้าที่และประโยชน์ต่อการดำเนินรายการอย่างไรบ้าง
ดีเลย์เซ็นเซอร์คืออะไร
ดีเลย์เซนเซอร์ “Broadcast Delay” หรือที่เรียกว่า “Deferred Live” คือการทำให้เวลาออกอากาศหน่วง หรือช้าลงระหว่างการถ่ายทอดสด มีจุดประสงค์หลักเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด หรือมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเผยแพร่ออกไป
รายการโทรทัศน์ ใช้งานเครื่องดีเลย์เซ็นเซอร์อย่างไร
ปกติแล้วรายการโทรทัศน์/วิทยุ ส่วนใหญ่มักใช้งานเครื่องดีเลย์เซ็นเซอร์ด้วยการ หน่วงวิดีโอออกไป 7-30 วินาที เพื่อให้โปรดิวเซอร์มีเวลาตัดสินใจกดปุ่มปิดเสียงได้ทันที หากมีคำหยาบหรือข้อความไม่เหมาะสมหลุดระหว่างดำเนินรายการ
ทั้งนี้ โปรดิวเซอร์จะต้องกดปุ่มปิดเสียงค้างไว้จนกว่าคำหยาบนั้นจะจบลง เพื่อให้แน่ใจว่าตัดเฉพาะคำหยาบออกไปเท่านั้น โดยไม่ให้กระทบเนื้อหาอื่น ๆ ภายในรายการ
ประโยชน์ของดีเลย์เซ็นเซอร์
การหน่วงเวลา หรือทำให้เวลาออกอากาศช้าลง สามารถใช้เพื่อให้รายการออกอากาศในช่วงไพร์มไทม์ (Prime Time) หรือช่วงเวลาที่มีผู้ชมจำนวนมากที่สุด นอกจากนี้ การหน่วงเวลายังบันทึกเทปล่วงหน้าไว้เป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อตัดต่อและลบเนื้อหาที่ไม่จำเป็น หรือปรับความยาวของรายการให้เหมาะสมกับผังรายการ
ในโลกของวิทยุและโทรทัศน์ เทคนิคการหน่วงเวลาออกอากาศนั้นไม่ได้มีไว้แค่เพื่อป้องกันคำหยาบหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย ดังต่อไปนี้
1. หน่วงเวลาเพื่อป้องกันความผิดพลาด
ส่วนใหญ่ใช้ดีเลย์เซนเซอร์ เพื่อหน่วงเวลาเพียงไม่กี่วินาทีก่อนการถ่ายทอดสด เพื่อให้ทีมงานมีเวลาตัดเนื้อหาที่ผิดพลาด หรือไม่เหมาะสมออกไป เช่น คำหยาบ ภาพโป๊เปลือย หรือการใช้ความรุนแรง
2. หน่วงเวลาเพื่อความสะดวก
การหน่วงสามารถทำได้หลายชั่วโมงก่อนรายการออกอากาศ เพื่อให้รายการออกอากาศในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับผู้ชมแต่ละพื้นที่ ในประเทศที่มีหลายเขตเวลา เช่น สหรัฐอเมริกา มีรายการที่ถ่ายทอดสดจากฝั่งตะวันออกจะถูกหน่วงเวลา เพื่อให้รายการออกอากาศในช่วงไพร์มไทม์ (Prime Time) หรือช่วงเวลาที่มีผู้ชมจำนวนมากที่สุด ของฝั่งตะวันตกด้วย
3. ดีเลย์เพื่อปรับผังรายการ
การใช้เทปบันทึกล่วงหน้า (Tape Delay) ยังสามารถแก้ปัญหาตารางออกอากาศชนกัน หรือตัดต่อเนื้อหาให้กระชับขึ้นตามเวลาที่กำหนด ช่วยให้ผู้วางผังรายการสามารถปรับเวลาการออกอากาศ รวมทั้งจัดผังรายการให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่รับชมในแต่ช่วงเวลา เช่น การจัดรายการข่าวในช่วงเช้า จะมีผู้เข้ารับชมเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นการรายงานข่าว และประชาสัมพันธ์สิ่งที่ผู้คนอยากรู้
4. ดูกีฬา-นางงาม แบบเรียลไทม์
ในอดีต การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาระดับโลกมักใช้การหน่วงเวลา เพื่อให้ผู้ชมแต่ละประเทศได้ดูในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ในปัจจุบันการเข้าถึงสังคมออนไลน์เป็นเรื่องง่าย ทำให้การถ่ายทอดสดแบบเรียลไทม์เป็นที่นิยมมากกว่า
งานประกาศรางวัลระดับประเทศ และระดับโลก อย่างงานประกาศรางวัลออสการ์ หรือการประกวดนางงาม ใช้การถ่ายทอดสดพร้อมกันทั่วโลกเช่นกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชมที่อยากรับรู้เหตุการณ์สำคัญแบบทันท่วงที
ดีเลย์เซนเซอร์ หรือเทคนิค Broadcast Delay จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยในวงการสื่อสาร เพื่อช่วยนำเสนอเนื้อหาให้มีประสิทธิภาพ ทั้งยังสร้างความมั่นใจให้กับผู้ชมว่าจะได้รับชมเนื้อหาที่เหมาะสมอีกด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง