สืบเนื่อจาก เที่ยวบิน SQ321 ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เส้นทางลอนดอน-สิงคโปร์ ประสบเหตุไม่คาดฝัน ตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงระหว่างเหนือน่านฟ้าไทย เครื่องบินดิ่งฮวบหลายพันฟุตภายในเวลาไม่กี่นาที ทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 15.45 น. เหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีผู้โดยสารและลูกเรือได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย
วันนี้ Thaiger จะขอพาทุนคนมาทำข่าวเข้าใจ “หลุมอากาศ” ภัยธรรมชาติที่คอยก่อกวนเครื่องบิน
เครื่องบินตกหลุมอากาศเป็นยังไง
เคยรู้สึกเหมือนเครื่องบินร่วงวูบลงมาหรือสั่นไหวอย่างกะทันหันขณะบินอยู่บนฟ้าไหม? นั่นแหละครับคืออาการ “ตกหลุมอากาศ” เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Turbulence” แม้จะฟังดูน่ากลัว แต่หากเราเข้าใจที่มาที่ไปและวิธีรับมือ ก็จะช่วยให้เราคลายกังวลและเดินทางได้อย่างสบายใจมากขึ้น
ตกหลุมอากาศเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ให้นึกภาพว่าอากาศรอบตัวเราเป็นเหมือนมหาสมุทรขนาดใหญ่ ที่มีทั้งคลื่นลมและกระแสน้ำไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา เครื่องบินที่บินอยู่บนฟ้าก็เปรียบเสมือนเรือที่ล่องอยู่ในทะเล อากาศก็มีแรงดันที่แตกต่างกันได้ในแต่ละพื้นที่และสภาพอากาศ เครื่องบินไม่ได้กำลังบินฝ่าความว่างเปล่า
เมื่อเจอกับคลื่นลมแรงหรือกระแสน้ำที่เปลี่ยนทิศทางกะทันหัน ก็ทำให้เกิดอาการโคลงเคลงได้ ความปั่นป่วนของอากาศ หรือ “ตกหลุมอากาศ” ก็มีหลักการคล้ายๆ กัน นั่นคือ เกิดจากการที่เครื่องบินบินผ่านมวลอากาศที่เคลื่อนที่ไม่สม่ำเสมอ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
1. สภาพอากาศแปรปรวน โดยเฉพาะพายุฝนฟ้าคะนอง มักเป็นสาเหตุหลักของการตกหลุมอากาศ เนื่องจากมีกระแสลมที่พัดขึ้นและลงอย่างรุนแรงภายในพายุ
2. กระแสลมกรด (Jet Stream) เป็นกระแสลมที่พัดแรงและเร็วในระดับสูง หากเครื่องบินบินผ่านหรือใกล้กับกระแสลมกรด ก็อาจทำให้เกิดความปั่นป่วนได้ กระแสลมแบบนี้เกิดได้แม้ในสภาพท้องฟ้าแจ่มใส
3. ภูมิประเทศ เมื่ออากาศไหลผ่านภูเขาสูง ก็อาจทำให้เกิดกระแสลมที่ไม่สม่ำเสมอและเกิดการตกหลุมอากาศได้ โดยเฉพาะเครื่องบินขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบมากกว่า
4. กระแสลมปั่นป่วนจากเครื่องบินลำอื่น เครื่องบินขนาดใหญ่ที่บินผ่านไปก่อนหน้า จะทิ้งกระแสลมปั่นป่วนไว้ด้านหลัง คล้ายกับคลื่นที่เกิดจากเรือ หากเครื่องบินลำอื่นบินตามหลังมาในระยะใกล้เกินไป ก็อาจได้รับผลกระทบจากกระแสลมปั่นป่วนนี้ได้
ความรุนแรงของการตกหลุมอากาศมีกี่ระดับ?
ความรุนแรงของการตกหลุมอากาศ
ระดับเบา (Light Turbulence)
ผู้โดยสารจะรู้สึกเหมือนเครื่องบินสั่นเล็กน้อย หรือเห็นน้ำในแก้วสั่นไหว ไม่เป็นอันตราย
ระดับปานกลาง (Moderate Turbulence)
ผู้โดยสารจะรู้สึกได้ชัดเจนขึ้น อาจทำให้เดินลำบากหรือรู้สึกคลื่นไส้เล็กน้อย ควรนั่งประจำที่และรัดเข็มขัดนิรภัยให้เรียบร้อย
ระดับรุนแรง (Severe Turbulence)
เป็นระดับที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรงมาก อาจทำให้เครื่องบินร่วงลงหรือยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้โดยสารอาจลอยจากที่นั่งได้ชั่วครู่ แต่ไม่ต้องกังวล เพราะเครื่องบินสมัยใหม่ถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนได้เป็นอย่างดี
ตกหลุมอากาศอันตรายไหม?
แม้ว่าการตกหลุมอากาศอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวหรือตกใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่เครื่องบินจะตกเพราะตกหลุมอากาศนั้นน้อยมาก เครื่องบินโดยสารในปัจจุบันมีความแข็งแรงและสามารถทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนจากหลุมอากาศได้ดี อีกทั้งนักบินก็ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีในการรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้
อย่างกรณีผู้เสียชีวิตเที่ยวบิน SQ321 เป็นชายชาวอังกฤษอายุ 73 ปี สาเหตุการเสียชีวิตมาจากอาการหัวใจวาย
ผู้โดยสารควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเครื่องบินตกหลุมอากาศ รัดเข้มขัด ป้องกันบาดเจ็บ
ตั้งสติให้ดี จำไว้ว่าการตกหลุมอากาศเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ และนักบินสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ พยายามทำใจให้สบายและอย่าตื่นตระหนก
คาดเข็มขัดนิรภัยให้เรียบร้อย นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้โดยสารควรทำ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง และ ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เพราะลูกเรือได้รับการฝึกฝนมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน และจะคอยให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร
ด้าน นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี หอดีตนายทหารอากาศชาวไทย นักบินขับไล่ F-16 ให้ความรู้เรื่องเครื่องบินตกหลุมอากาศว่า การที่เครื่องบินตกหลุมอากาศนั้น รุนแรงกว่าที่คนทั่วไปคิดไว้มาก เนื่องจากเครื่องบินอาจเสียความสูงลงมาถึง 4000-5000 ฟุต ระหว่างที่ร่วงลงมานั้นเอง ตัวคนอาจจะขึ้นไปติดอยู่บนเพดาน และร่วงลงมาเมื่อถึงเวลาที่ลมมาเกาะอากาศอีกครั้ง
ดังนั้นเวลานั่งอยู่บนเครื่องบิน ควรรัดเข็มขัดนิรภัยไว้ให้เป็นความเคยชินเสมอ ไม่ว่าจะมีไฟเตือนหรือไม่ เนื่องจากเวลาที่เครื่องบินเสียความสูงลงไป ตัวเราจะลอยพ้นจากเบาะขึ้นมา และเมื่อถึงเวลาที่ลมมาเกาะอากาศอีกครั้งหนึ่ง จะส่งผลให้ร่างกายกระแทกลงมา อาจบาดเจ็บต่อกระดูกสันหลังได้ บาดเจ็บสาหัส หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
“รัดให้แน่นประมาณหนึ่ง ซึ่งเราอาจจะไม่รู้สึกอึดอัด แต่ว่าพยายามให้ก้นเราติดอยู่กับเบาะ ขยับได้น้อยเท่าไหร่เรายิ่งปลอดภัยมากเท่านั้น”