ข่าวข่าวการเมือง

ยิ่งลักษณ์ รำลึก 10 ปีรัฐประหาร หวังรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อประชาชน

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและการเมืองไทยอย่างมากมายมาจนถึงปัจจุบัน

นางสาวยิ่งลักษณ์ได้โพสต์ภาพของเธอที่ยืนอยู่หน้าสถานที่แห่งหนึ่งในต่างประเทศ พร้อมข้อความที่สะท้อนถึงความทรงจำและความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เธอระบุว่า “นับเป็นเวลา 10 ปีแล้วจากวันที่เกิดการรัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 จนมาถึงวันนี้เป็นเวลาที่ยาวนาน

แต่ดิฉันเริ่มมีความหวังค่ะ ก็คือการที่เห็นประเทศกลับคืนสู่หนทางแห่งประชาธิปไตย โดยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เขียนโดยประชาชน เพื่อประชาชน ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนไปพร้อมๆกัน

รอความหวังที่จะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงค่ะ”

โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ติดตามและประชาชนทั่วไปอย่างมากมาย หลายคนแสดงความคิดเห็นและให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ พร้อมแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตและอนาคตของประเทศไทย

 

 

เหตุการณ์รัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในครั้งนั้น เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องพลัดถิ่น ลี้ภัยทางการเมือง และเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบประชาธิปไตย

ในขณะนั้นรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์เผชิญกับปัญหาทางการเมืองและการประท้วงอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อ้างเหตุยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลทหาร ภายใต้ชื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง

รัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิก และมีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ม.44 ที่นิรโทษกรรมตัวเองในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของพลเอกประยุทธ์ถือกำหนดขึ้น

ภายหลังรัฐประหาร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และบุคคลสำคัญในรัฐบาลของเธอถูกเรียกตัวเพื่อเข้ารายงานตัวต่อ คสช. และถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตในโครงการดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ นำมาซึ่งการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อเธอในเวลาต่อมา

หลังการรัฐประหาร นโยบายและการบริหารประเทศถูกควบคุมโดย คสช. ซึ่งมีแนวทางการบริหารประเทศที่แตกต่างจากรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยมีการเน้นหนักไปที่การรักษาความสงบเรียบร้อยและการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการต่างๆ ถูกตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในด้านการปฏิรูปในหลายๆ ด้าน รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ประชาชนมีความไม่พอใจและเกิดความตึงเครียดในสังคม การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมก็เป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่สำคัญ เนื่องจากมีการประกาศกฎอัยการศึกและการใช้กฎหมายควบคุมสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด

คสช. ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลาหลายปีจนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2560 และมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎระเบียบใหม่ที่ถูกกำหนดขึ้น

รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ถูกใช้และวางยาให้การเมืองไทยมีปัญหามาจนถึงปัจจุบัน

 

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button