ข่าว

สาวท้องแก่เครียด ลาคลอดตามสิทธิ ถูกเพื่อนร่วมงานด่า “เบียดเบียนคนอื่น” ทนไม่ไหวยอมลาออก

(20 พ.ค. 67) เรื่องราวสุดอึ้งของว่าที่คุณแม่รายหนึ่ง ที่เจอปัญหาเพื่อนร่วมงาน Toxic จนต้องมาเล่าประสบการณ์ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก JobThai Official Group ว่าเธอถูกเพื่อนร่วมงานทักแชตมาถามว่าลาออกจากงานแล้วใช่ไหม ทั้งที่ความจริงเธอแค่ลาคลอด ได้แจ้งหัวหน้างาน และได้รับอนุมัติให้ลาจากบริษัทตามสิทธิแล้ว

หญิงสาวรายนี้ ได้โพสต์ภาพแชทสนทนากับเพื่อนร่วมงาน พร้อมระบุว่า “คือเรากำหนดคลอดกรกฎาคมนี้ แต่เราแจ้งหัวหน้างานไปแล้วว่าจะใช้สิทธิ์ลาคลอดเลย หัวหน้างานอนุมัติเรียบร้อยไม่มีปัญหา แจ้งตามกฎบริษัทเรียบร้อย แต่มาเจอคำพูดเพื่อนร่วมงานท่านนึง แบบนี้ทำให้เรากดดันมากค่ะ ส่วนนี้ที่นำมาปรึกษาใครเจอแบบนี้บ้างคะอันนี้ แค่บางส่วนนะคะไม่รวมส่วนที่เขาพูดแขวะตลอด”

จากภาพแชทกรุ๊ปที่มีคนอยู่กว่า 10 คน เผยให้เห็นว่า เพื่อนร่วมงานได้ทักมาถามเธอในไลน์กลุ่มว่า ลาออกแล้วใช่มั้ยคะ? เธอก็ตอบชี้กลับไปว่าแค่ลาคลอด แจ้งทางผู้ใหญ่ไปแล้ว แต่อีกฝ่ายยังไม่แล้วใจ พิมพ์มาแขวะด้วยภาษาไม่น่าฟังว่า “อ่อ ไม่ใช่บอกว่าออกแล้วหรอ เลยเช็คให้ชัวร์ จะได้ให้เค้าหาคนมาแทน เสียเวลา และเบียดเบียนงานคนอื่นเค้า”

เธอทำได้เพียงตอบกลับไปว่า หลังลาคลอดแล้วไม่มีคนเลี้ยงลูกก็จะลาออกให้

หลังเรื่องราวถูกแชร์ออกไป สมาชิกในกลุ่มถึงกับเข้ามาคอมเมนต์ด้วยความเดือดดาลแทนเจ้าของโพสต์ ที่มีเพื่อนร่วมงานนิสัยแบบนี้ ให้กำลังใจว่าที่คุณแม่ว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราทำตามกฎหมาย ใช้สิทธิของตัวเอง บริษัทก็อนุญาตแล้ว ควรแจ้งเรื่องนี้ที่ถูกเพื่อนร่วมงานตำหนิให้ฝ่าย HR รับทราบเพื่อให้จัดการ

อย่างไรก็ตาม เจ้าของโพสต์ก็ได้มาอัปเดตเพิ่มเติมว่า ได้แจ้งเรื่องนี้ให้เบื้องบนทราบแล้ว และตัวเองตัดสินใจลาออกหลังลาคลอดทันที เพราะทำงานร่วมกับคนแบบนี้ไม่ไหว

กฎหมายลาคลอดของไทย

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 41 หญิงมีครรภ์มีสิทธิลาคลอดได้ 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างครึ่งหนึ่งของเงินเดือนในช่วง 45 วันแรก ส่วนอีก 45 วันที่เหลือ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง แต่ลูกจ้างสามารถเบิกเงินจากประกันสังคมได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยต้องไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ หากหญิงมีครรภ์คลอดบุตรก่อนกำหนด หรือคลอดบุตรแล้วแต่บุตรเสียชีวิต ก็ยังคงมีสิทธิลาคลอดได้ 98 วันเช่นเดิม

ทั้งนี้ การลาคลอดถือเป็นสิทธิที่กฎหมายคุ้มครอง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม อาจมีความผิดตามกฎหมายแรงงานได้ และนายจ้างไม่มีสิทธิเลิกจ้างพนักงานที่ตั้งครรภ์ได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button