ไขกระจ่าง ดราม่าทุเรียนขึ้นรา ยังกินได้มั้ย อ.เจษฎ์ ตอบแล้ว
อาจารย์ เจษฎา “อ.เจษฎ์” โพสต์ข้อความเตือนภัย กรณี ดราม่าสาวกลุ่มผู้บริโภค ร้อง ร้านค้าส่งทุเรียนขึ้นรามาให้ เบี่ยงคืนเงิน พร้อมบอกให้ตัดส่วนที่ขึ้นราออก แล้วกินได้เลย
ในช่วงวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่ง โพสต์รูป ทุเรียนขึ้นรา ในกลุ่ม พวกเราคือผู้บริโภค พร้อมเล่าว่า ตนได้ซื้อทุเรียนมาจากร้านค้าแห่งหนึ่ง หลังจากที่ผลไม้ถึงมือตัวเองแล้ว พบว่าทุเรียนได้ขึ้นราจำนวน 1 พู จึงได้ทำการติดต่อร้านค้าดังกล่าวว่าต้องการที่จะส่งคืนทุเรียนกลับไปให้ พร้อมขอเงินคืน ทว่า แอดมินของร้านค้าบอกให้ ลูกค้าตัดพูทุเรียนที่ขึ้นราออก แล้วแช่เย็นไว้ให้นิ่ม แล้วสามารถรับประทานกินได้เลย
แต่สาวเจ้าของทุเรียนรู้สึกไม่โอเค จึงต้องการจะส่งกลับทุเรียนไป เพราะว่าจะเอาไปทำบุญ ไม่ได้กินเอง สุดท้าย ร้านค้าบอกว่าจะเคลมค่าทุเรียนให้ แต่ลูกค้าจะต้องจ่ายค่าส่งเอง
ต่อมา โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากสมาชิกในกลุ่ม ทำให้ชาวเน็ตทั้งในและนอกกลุ่ม ร่วมคอมเมนต์วิจารณ์ความเหมาะสมของการแก้ปัญหาของร้านค้าทุเรียน ว่า อย่างน้อยร้านค้าควรจะรับผิดชอบค่าส่ง ไม่ใช่ปฏิบัติกับลูกค้าเช่นนี้ เป็นต้น
“ไปซื้อที่ตลาดดีกว่าค่ะ ได้เลือกเอง สบายใจกว่า”
“ร้านไม่น่ารักเลยค่ะ”
“อุบาทร้านไหนนิครับ โครตแย่”
“เอาซะอยากรู้จังเลยว่าร้านไหน เพจไหน จะได้ไม่หลวมตัวไปสั่งซื้อ”
“ร้านค้าน่าจะรับผิดชอบค่าส่งด้วยนะคะ กินก็ไม่ได้กิน”
จากกระแสดังกล่าว ทำให้ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ “อ.เจษฎ์” ได้แคปรูปภาพข่าวดราม่านี้ พร้อมแชร์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ว่า ทุเรียนที่ขึ้นราแล้วจะไม่สามารถกินได้ ต่อให้จะตัดส่วนที่ขึ้นราออกแล้วก็ตาม เพราะทุเรียนเป็นผลไม้เนื้อนุ่ม แสดงว่าเส้นใยของเชื้อราสามารถแพร่กระจายเข้าไปในเนื้อผลไม้ได้ ต่อให้ตัดออกไป ก็ยังจะเหลือสารพิษอยู่ดี พร้อมแนะนำว่าให้ทิ้งไปให้หมดเลยเสียดีกว่า
ทั้งนี้ อ.เจษฎ์ ยังแนบคำแนะนำ ของกระทรวงการเกษตร ประเทศสหรัฐอเมริกา (USDA) เกี่ยวกับอาหารที่ขึ้นรา เป็นข้อมูลเพิ่มเติม ที่มีรายละเอียด ว่า หากเราพบอาหารที่ขึ้นรา ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานโดยเด็ดขาด ห้ามดม และการกำจัดต้องนำไปใส่ถุงปิดมัดเพื่อป้องกันการกระจายต้วของเชื้อรา พร้อมทำความสะอาดบริเวณโดยรอบ รวมทั้งสรุปลิสต์ประเภทอาหารที่ทั้งสามารถกินได้และไม่ได้หากขึ้นราเพิ่มเติม ได้ตามดังนี้
อาหารประเภทผักและผลไม้ขึ้นรา
ผักและผลไม้ชนิดแข็ง เช่น แครอท กะหล่ำปลี และพริกหยวก ยังกินได้ เพราะเป็นผักผลไม้เนื้อแข็ง แต่จำเป็นต้องส่วนที่ขึ้นราออกก่อน ประมาณ 1 นิ้ว
ผักและผลไม้ชนิดนุ่ม เช่น สตรอว์เบอรี่ พีช แตงกวา และมะเขือเทศ ไม่สามารถกินได้ เพราะเป็นผักผลไม้เนื้ออ่อน เชื้อราสามารถเจริญเติบโตภายในเนื้อได้
อาหารประเภทเนื้อสัตว์ขึ้นรา
เนื้อสดและเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น จำพวกเบคอน แฮม ไส้กรอก ไม่สามารถกินได้ เพราะเนื้อสัตว์มีความชื้นสูง ซึ่งเชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี และอาจมีแบคทีเรียแฝงอยู่
เนื้อสัตว์ตากแห้งหรืออบแห้ง ชนิดที่ยังไม่ได้หั่นให้เป็นชื้นเล็ก ๆ ยังสามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากไม่มีความชื้นเป็นตัวนำพาให้เชื้อรากระจายตัวเข้าสู่ด้านใน แต่จำเป็นต้องขูดเอาเชื้อราออกให้หมด ก่อนนำไปประกอบอาหาร
อาหารประเภทชีสขึ้นรา
- ยังสามารถกินได้ : ชีสก้อนชนิดแข็ง และ ชีสชนิดนุ่มในกลุ่มของBlue-cheese แต่สำหรับชนิดก้อนแข็ง จำเป็นต้องตัดส่วนที่ขึ้นราออก 1 นิ้วโดยประมาณเสียก่อน
- ไม่สามารถกินได้ : แยมและเจลลี่ขึ้นรา, โยเกิร์ตและครีม, ชีสชนิดนุ่มและชีสที่ขูดแล้ว, ธัญพืชและเส้นพาสต้าที่ปรุงสุกแล้ว, เนยถั่วและถั่ว, ขนมปังและเบเกอรี่ขึ้นรา
สามารถสรุปได้ว่า ทุเรียนขึ้นรา ไม่สามารถกินได้ เพราะถึงแม้ทุเรียนจะมีลักษณะเปลือกที่แข็งแรง แต่เนื้อเดิมของทุเรียนมีความนิ่ม ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มจำพวกผลไม้เนื้อนุ่ม ซึ่งผลไม้กลุ่มนี้เชื้อราสามารถเติบโตได้ดี และชอนไชเส้นใยเข้าไปในส่วนต่าง ๆ จึงต่อให้ตัดส่วนที่ขึ้นราออกไป ก็ยังเป็นอันตรายอยู่ดี เสี่ยงอาการเจ็บป่วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดภาพสยอง ผื่นแดงลามขึ้นตามตัว หลังสูดอากาศที่มีขี้นกปนเปื้อนรา
- ไม่กินอาหารกี่วันถึงเสียชีวิต อดอาหารนานไป สุขภาพดีหรือหายนะ
- วัฒนธรรมยะลา เคลียร์ดราม่าอาหารถิ่น เผยที่มาชื่อ ‘ข้าวยำโจร’ มาจากอะไร?