สาวกทุเรียนสุดช้ำ เจอตัวหนอนเบิ้ม เจาะทุเรียนทั้งพู โยนทิ้งยกลูก ก่อนได้ลิ้มรส
อวสานของอร่อย สาวโพสต์คลิปรีวิวทุเรียนสุดชอกช้ำ ปอกมาเจอหนอนตัวเบิ้มยึดครองทั้งพู พลิกด้านไหนก็มีแต่เจ้าสัตว์กระดึ๊บ ไม่ทันได้ลิ้มรสก็ต้องโยนทิ้งทั้งลูก
เมื่อหน้าร้อนวนเวียนมา นั่นก็หมายความว่าถึงเวลาที่บรรดาสาวกทุเรียนจะได้ลิ้มรสชาติแห่งความอร่อย แต่หลาย ๆ ครั้งกว่าจะได้กินทุเรียนนั้นก็แสนยากเย็น บ้างก็ติดอุปสรรคที่เปลือกหนามแหลม บ้างก็เจอเชื้อรา และบางรายก็เจอหนอน ดังเช่นในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้ TikTok @aay_narisara
คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ลงบน TikTok เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คลิปเผยให้เห็นวินาทีที่หญิงสาวกำลังปอกทุเรียนหมอนทอง แต่เมื่อจัดการตัดแบ่งออกเป็นพู ๆ และกำลังจะแกะเนื้อขึ้นมารับประทานก็พบหนอนตัวใหญ่ซุกซ่อนอยู่ด้านใน อีกทั้งบริเวณเนื้อทุเรียนก็ยังเต็มไปด้วยเม็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาล ซึ่งก็คือมูลของหนอน
ในความจริงก็ไม่ใช่เพียงแค่ทุเรียนพูนั้นที่ถูกหนอนบุก แต่สาวเจ้าของทุเรียนยังได้เล่าเหตุการณ์เพิ่มเติมไว้อีกคลิปด้วยว่า หนอนครองทั้งลูก กินไม่ได้แม้แต่พูเดียว “สรุปคือทั้งลูกนั้นน้องหนอนได้ครองไปแล้วจ๊ะ น้อง ๆ ไม่แบ่งไว้ให้กันสักพลูเลยอ่าา”
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ชาวเน็ตก็ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันมากมาย บางส่วนก็คอมเมนต์ในเชิงขบขันว่า ทุเรียนออร์แกนิก ปลอดภัยไร้สาร และบ้างก็บอกว่าหนอนเป็นแหล่งโปรตีน
ภาวะหนอนขึ้นทุเรียนสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป ซึ่งสัตว์นี้มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน” (Durian Seed Borer) เป็นแมลงศัตรูที่มีความสำคัญและทำความเสียหายต่อผลผลิตทุเรียนในเขตภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่สำคัญ สันนิษฐานว่าหนอนชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ใน ประเทศมาเลเซียแล้วระบาดเข้ามาทาง ภาคใต้ของประเทศไทย
เมื่อเกษตรกรนำเมล็ดทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีขนาดโตมาจากภาคใต้เพื่อนามาเพาะใช้เป็นต้นตอ ซึ่งจะได้ต้นตอที่แข็งแรง เจริญเติบโตได้รวดเร็ว และมีความทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่า การนำเมล็ดพันธุ์จากทางภาคใต้นี้ เป็นเหตุทำให้หนอนชนิดนี้ติดมาด้วย เกษตรกรจึงเรียกหนอนชนิดนี้ว่า “หนอนใต้” หรือ “หนอนมาเลย์”
เมื่อหนอนชนิดนี้เข้าทำลายภายในผลทุเรียนจะไม่สามารถสังเกตจากลักษณะภายนอกได้ จนกระทั่งเมื่อหนอนโตเต็มที่พร้อมเข้าดักแด้จึงเจาะเปลือกเป็นรูออกมาและทิ้งตัวลงบนพื้นเพื่อเข้าดักแด้ในดิน เกษตรกรจะเห็นแต่รูที่หนอนเจาะออกมาแต่ไม่พบตัวหนอนอยู่ภายใน หรือบางกรณีจะพบความเสียหายเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว หนอนจึงเจาะออกมาภายหลัง
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันพบว่ามีการระบาดอย่างกว้างขวางจนเกือบครบทุกพื้นที่ในจังหวัดจันทบุรี และบางส่วนของจังหวัดตราด สวนทุเรียนบางแห่งได้รับความเสียหายจากหนอนชนิดนี้สูงถึง 80-90% และพื้นที่การระบาดได้ขยายออกจากแหล่งที่พบการระบาดครั้งแรกไปในหลายพื้นที่ของจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด
ข้อมูลจาก สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง