ข่าว

ในหลวง สถาปนา พระธรรมราชานุวัตร ขึ้นเป็น “พระพรหมวชิโรดม”

วันที่ 8 พ.ค. 67 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พระสงฆ์ซึ่งดำรงในสมณคุณ มีอุปการะยิ่งแก่การพระศาสนา สมควรจะได้เลื่อนอิสริยฐานันดร ในสมณศักดิ์สูงขึ้นมีอยู่

พระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนา พระธรรมราชานุวัตร ขึ้นเป็น “พระพรหมวชิโรดม” พระราชาคณะเจ้าคณะรอง

จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระธรรมราชานุวัตร ขึ้นเป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมวชิโรดม ปริยัตยาคมธุรโกศล โสภณสีลสมาจาร บริหารศาสนกิจดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป

Advertisements

ขออาราธนาพระคุณ จงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามณรในคณะและในพระอาราม ตามสมควรแก่กำลัง และอิสริยยศ ซึ่งพระราชทานนี้ และจงเจริญอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2567 ประกาศ ณ วันที่ 8 พ.ค. 2567 เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน

ประวัติ พระพรหมวชิโรดม (สุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.๙,ดร.) มีชื่อเดิมทางโลกว่า สุทัศน์ ไชยะภา ฉายา วรทสฺสี เป็นคนจังหวัดบุรีรัมย์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2514 บิดา ชื่อ นายสา ไชยะภา มารดา ชื่อ นางจันทร์ ไชยะภา เกิด ณ ที่บ้านเลขที่ 152 บ้านราษฎร์นิยม ตำบลโคกตูม อำเภอประโคนชัย

เมื่อจบประถมศึกษาปีที่ 6 แล้วก็ได้บรรพชาครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2527 โดยมีพระครูวิบูลวุฒิคุณ (ฉลัน) อดีตเจ้าอาวาสวัดตาไก้พลวงและรองเจ้าคณะอำเภอนางรอง เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านจึงเข้าศึกษานักธรรมตรีที่สำนักศาสนศึกษาแห่งนี้ จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อนักธรรมโท-เอก และบาลี ณ วัดกลาง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้การปกครองของ พระครูพิทักษ์ชินวงศ์ (บัณฑร ชินวํโส)(น.ธ.เอก,อภิธรรมบัณฑิต) เจ้าคณะอำเภอนางรอง(สมัยนั้น)

เมื่อสอบประโยค ป.ธ.๔ ได้แล้ว พระครูพิทักษ์ชินวงศ์ (บัณฑร ชินวํโส,น.ธ.เอก,อภิธรรมบัณฑิต) จึงนำมาฝากพระราชเมธี (วรวิทย์) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ รองเจ้าคณะภาค 10 และเจ้าคณะ 8 ขณะนั้น เพื่อเข้าศึกษาต่อ ท่านมีวิริยะอุตสาหะในการศึกษาอย่างยวดยิ่งสามารถสอบผ่านชั้นประโยค ป.ธ.๕ ถึง ป.ธ.๙ โดยไม่สอบตกเลย

Advertisements

ธรรมเนียมวัดมหาธาตุนั้น เมื่อมีสามเณรนวกะเข้ามาอยู่อาศัยแต่ละปี จะต้องผ่านการอบรมกรรมฐาน การอบรมขนบธรรมเนียมประเพณีของวัดมหาธาตุ และบรรพชาใหม่

ท่านจึงได้บรรพชาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 4 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2533 ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมี พระเดชพระคุณพระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ),ป.ธ.๘ อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ อดีตเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นพระอุปัชฌาย์

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งทางพระสังฆาธิการเป็นเจ้าคณะภาค 10, เจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร และรองแม่กองบาลีสนามหลวง

วิทยฐานะ

พ.ศ. ๒๕๒๗ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านราษฎร์นิยม ตำบลโคกตูม อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์ เขต ๓

พ.ศ. ๒๕๓๐ สอบได้นักธรรมชั้นเอก (น.ธ.เอก) สำนักศาสนศึกษาวัดกลาง ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ สำนักเรียนคณะจังหวัดบุรีรัมย์

พ.ศ. ๒๕๓๘ สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค (ป.ธ.๙) สำนักเรียนวัดมหาธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. ๒๕๔๑ สำเร็จปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) สาขาวิชาปรัชญา คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๔๔ สำเร็จปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (อ.ม.) สาขาศาสนาเปรียบเทียบ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

พ.ศ. ๒๕๔๕ สำเร็จประกาศนียบัตรประโยควิชาชีพครู (ป.วค.) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พ.ศ. ๒๕๔๘ สำเร็จปริญญาตรี ศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.) สาขาบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พ.ศ. ๒๕๕๔ สำเร็จปริญญาโท ครุศาสตรมหาบัณฑิต (ค.ม.) สาขา การบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

พ.ศ. ๒๕๕๗ สำเร็จปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวัฒนธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ความชำนาญพิเศษ

๑. ความชำนาญด้านพิมพ์ดีด คอมพิวเตอร์-ซอฟต์แวร์ และงานสารบรรณ

๒. ความชำนาญด้านการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี

๓. ความชำนาญด้านการอบรมศีลธรรมจริยธรรมในสถานศึกษาทุกระดับ

๔. ความชำนาญด้านการบรรยายงานวิชาการทางพระพุทธศาสนา ปรัชญาการบริหารการศึกษาในสถานศึกษา และการบริหารสำนักเรียน

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button