SCG ออกโรงชี้แจง ถูก สหรัฐฯ ปรับอ่วม 736 ล้านบาท ละเมิดคว่ำบาตรอิหร่าน

SCG ออกโรงชี้แจง กระแสข่าวถูกทางการสหรัฐฯ ปรับอ่วม 736 ล้าน ฐานละเมิดคว่ำบาตรอิหร่าน ยืนยันไม่กระทบธุรกิจ สำรองงบการเงินสิ้นปี 2566 แล้ว
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ได้ออกโรงชี้แจงหลังมีกระแสข่าว กรณีรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สั่งปรับ บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด จำนวนเงิน 736 ล้านบาท ฐานละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่านจากการโอนเงินดอลล่าร์สหรัฐชำระค่าสินค้าที่ผลิตในอิหร่าน ช่วงปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2561
โดยนายธรรมศักดิ์ ระบุว่า การจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในปี 2567 ของเอสซีจีเนื่องจากได้ตั้งสำรองในงบการเงินสิ้นปี 2566 เรียบร้อยแล้ว
โดย บริษัท เอสซีจีพลาสติกส์ จำกัด (SCG Plastics) เป็นบริษัทย่อยของ SCC (ปัจจุบันอยู่ระหว่างชำระบัญชี) เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ขายเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีน (PE) ที่ผลิตจากบริษัทที่เอสซีจีร่วมทุนในอิหร่าน
ซึ่ง SCG Plastics ได้ขาย PE ที่ผลิตจากบริษัทร่วมทุนนี้มาตั้งแต่ปี 2548 โดยใช้หลายสกุลเงินในการค้าขายตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจตามปกติของอุตสาหกรรมนี้และช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของอิหร่าน
ต่อมาในเดือนก.พ. 2556 SCG Plastics หยุดการขาย PE ที่ผลิตในอิหร่านหลังจากสหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของอิหร่าน และกลับมาขายอีกครั้งเมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศผ่อนผันการคว่ำบาตรดังกล่าวในปี 2557
จากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่าน ตั้งแต่ปี 2561 SCG Plastics ยุติการขาย PE จากบริษัทร่วมทุนอย่างถาวร หลังจากที่บริษัทในเอสซีจีหยุดดำเนินการกับบริษัทร่วมทุนนั้น และสินทรัพย์ดังกล่าวได้ถูกจำหน่ายไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 ตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา
นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ต่อมาสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (OFAC) เข้าตรวจสอบการขาย PE ของ SCG Plastics ที่ค้าขายช่วงเดือนเมษายน 2560 ถึง เดือนพ.ย. 2561 ว่าละเมิดมาตรการคว่ำบาตรหรือไม่
ซึ่ง SCG Plastics ให้ความร่วมมือกับทางราชการของสหรัฐฯ เป็นอย่างดี เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจสอบ OFAC เห็นว่ามีการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน แม้การขายสินค้าดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลสัญชาติสหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการคว่ำบาตร แต่ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการขายสินค้าที่ผลิตจากอิหร่านในช่วงดังกล่าว ทำให้สถาบันการเงินซึ่งเป็นบุคคลสหรัฐมีส่วนร่วมในการชำระเงินด้วย ส่วนการค้าขายด้วยสกุลเงินอื่นไม่ได้ละเมิดมาตรการดังกล่าว
OFAC เห็นว่า SCG Plastics ให้ความร่วมมือกับ OFAC ในการตรวจสอบอย่างเต็มที่ รวมถึงออกนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต OFAC จึงเสนอให้ SCG Plastics ทำ Settlement Agreement โดยให้ SCG Plastics จ่ายเงินค่าประนอมยอมความให้กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา