‘หมอหม่อง’ จวก พนง.สายการบิน ถามลูกสาว 16 ว่าท้องไหม ทำเด็กร้องไห้
หมอหม่อง โพสต์เดือด หลัง พนง.สายการบิน ถามลูกสาว 16 ว่าท้องไหม ทำลูกสาวร้องไห้ แนะพนักงานควรไปอบรมใหม่ ชี้เป็นคำถามกระทบกระเทือนจิตใจวัยรุ่น
กลายเป็นประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากที่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กขณะเดินทางกับสายการบินหนึ่ง ก่อนพนักงานสายการบินจะถามลูกสาววัย 16 ปีที่เดินทางมาด้วยว่าเธอท้องหรือไม่ ทำลูกสาวร้องไห้
โดยหมอหม่องระบุว่า “ผมกับลูกสาวกำลังจะขึ้นเครื่องบิน เจอพนักงานหน้าเกตถามลูกสาวด้วยเสียงห้วน ๆ ว่า “ผู้โดยสารตั้งครรภ์ไหม” ทำให้ผมงงมาก เพราะลูกสาวผม อายุ 16 ปี ไม่ได้แต่งหน้า ไม่ได้อ้วน พนักงานมาถามแบบนี้ได้ยังไง
ตามกฎคือ ถ้าตั้งครรภ์เกิน 28 สัปดาห์ ต้องมีใบรับรอง ซึ่งในตอนนั้นก็ต้องเห็นท้องโย้ชัดเจนแล้ว จึงรู้สึกว่า คำถามนี้เป็นคำถามที่ไม่สุภาพ ไม่ใช้การสังเกตใด ๆ การถามแบบนี้ อาจทำร้ายจิตใจของเด็กสาวคนหนึ่งได้
บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องขำ ๆ แต่สำหรับเด็กวัยรุ่น เขาตระหนักถึงภาพลักษณ์ของรูปร่างจนอาจเป็น psychic trauma (กระทบกระเทือนจิตใจ) ได้ มานั่งบนเครื่องลูกถามผมไม่หยุด ว่า หนูอ้วนจริงๆหรือพ่อ แล้วเธอก็ร้องไห้ มาถามเด็กถามลูกผมแบบนี้ ผมขออนุญาตโกรธ พนักงาน ควรไปรับการอบรมเสียใหม่”
ขณะที่เฟซบุ๊ก เลี้ยงลูกนอกบ้าน โพสต์ถึงเรื่องนี้ว่า หมอเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ก็คงทำหน้าที่ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แม้เรื่อง “การตั้งครรภ์” จะเป็นเรื่องธรรมชาติที่สุดของมนุษย์เรื่องหนึ่ง แต่การทักแบบนี้กับวัยรุ่น เป็นสิ่งที่ต้องระวังมากๆ เพราะมันมีนัยยะในความหมายนั้น โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้ทักถามผู้หญิงทุกคน.การถูกเลือกถามว่า “ท้องรึเปล่า” มันทำให้คนถูกถาม สามารถตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเพราะอะไรเราถึงได้ทักถามเขาแบบนั้น โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเหล่านั้นเป็น “วัยรุ่น” วัยที่กำลังสนใจเรื่องรูปร่าง หน้าตา เรื่องการพัฒนาอัตลักษณ์ของตน หรือว่า “เราดูอ้วน?” “ดูพุงใหญ่?” ไปจนถึง… “หรือเราดูจัดจ้าน?” “ดูเคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์?”“พ่อแม่จะสงสัยมั้ย ว่าเรามีอะไรคล้ายคนท้อง?”
สิ่งเหล่านี้คนถามอาจจะถามแล้วจบไป แต่ “คำถาม” มากมายอาจจะอยู่ในใจของผู้ถูกถาม ..ซึ่งหลายครั้งกับเด็กหรือวัยรุ่น ที่ส่วนใหญ่จะมีความเครียดในเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว หรือมีความเปราะบาง หลายครั้งมันอาจกลายไปกระตุ้นให้เกิดโรคมากมาย ทั้งโรคคลั่งผอม (anorexia) โรคบูลีเมีย (กินแล้วเอาออก) โรควิตกกังวล ไปจนถึงขาดความมั่นใจในตัวเอง
จะดีมากๆ ถ้าเจ้าหน้าที่ ทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดป้ายประกาศไว้ หรือการประกาศทั่วๆไป “ใครตั้งครรภ์ สามารถขึ้นเครื่องได้ก่อนนะครับ”“ใครตั้งครรภ์อยู่ รบกวนแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบด้วยนะคะ” น่าจะช่วยลดปัญหาที่จะสร้างความไม่สบายใจ ไปจนถึงบาดแผลในใจให้กับใครอีกหลายๆคน เห็นด้วยกับอาจารย์ว่าพนักงานควรได้รับการให้ความรู้ในเรื่องเซนซิทีฟเหล่านี้ เชื่อว่าการเรียนรู้เพื่อการพัฒนา น่าจะดีกว่าการพูดง่ายๆว่า “เริ่มต้นที่ตัวเรา เข้าใจเค้าก็พอ” เพราะหลายอย่าง ถ้าพัฒนาได้ มันก็เกิดประโยชน์ไปไกล มากกว่าแค่ตัวเรา
ทั้งนี้ในเวลาต่อมาหมอหม่องได้เข้ามาโพสต์ใต้คอมเม้นท์ของทางเพจว่า “สังคมส่วนหนึ่งมองว่า ครอบครัวผม over sensitive และ เลี้ยงลูก over protective น้อมรับไว้ครับแต่ผมแปลกใจว่าทำไมจึงถึงมองว่า การถามคำถามนี้ กับ เด็ก วัยรุ่น ต่อหน้า ธารกำนัลเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงที่คนรับสาร ต้องฝึกทนเอาเอง จะได้แข็งแกร่ง เป้าหมายผมอยากให้สายการบินทั้งหลายหาวิธีในการปกป้องอันตรายต่อคนท้องและส่วนรวมที่เหมาะสมกว่านี้ ครับ”
อย่างไรก็ตามหมอหม่องได้ลบต้นโพสต์ออกไปแล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง