ผึ้งหลวงหิมาลัย โผล่ไทยครั้งแรก บนดอยผ้าห่มปก เชียงใหม่ แหล่งน้ำผึ้งชั้นเลิศ
กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยค้นพบ ผึ้งหลวงหิมาลัย หรือ “Apis laboriosa” สายพันธุ์พิเศษที่พบเฉพาะบนเทือกเขาหิมาลัย เนปาล และอินเดีย บนยอดดอยผ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ชี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า การค้นพบในครั้งนี้ เป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อภาพรวมของความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่สูงภายในประเทศไทย ผึ้งหลวงหิมาลัยเป็นผึ้งหลวงอีกชนิดหนึ่งนอกเหนือจากผึ้งหลวงทั่วไป (Apis dorsata) ที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย
ผึ้งหลวงหิมาลัย มีลักษณะอย่างไร
ผึ้งหลวงหิมาลัย มีลักษณะพิเศษที่แตกต่าง คือ ปล้องท้องสีดำสนิท ขนรอบบริเวณปล้องอกสีเหลืองทอง พบได้ในบริเวณภูเขาสูงตั้งแต่ 1,000 – 4,500+ เมตรจากระดับน้ำทะเล และในพื้นที่มีอากาศเย็น (< 25°C)
ผึ้งหลวงหิมาลัยมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากผึ้งหลวงทั่วไป คือ ปล้องท้องสีดำสนิท ขนรอบปล้องอกสีเหลืองทอง ชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูง อากาศเย็น และเป็นแมลงผสมเกสรที่สำคัญเฉพาะต่อพืชในระบบนิเวศที่สูง
ผึ้งชนิดนี้เป็นแมลงผสมเกสรที่สำคัญและจำเพาะต่อสังคมพืชในระบบนิเวศที่สูง น้ำผึ้งของผึ้งหลวงหิมาลัยมีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีที่แตกต่างจากน้ำผึ้งจากผึ้งหลวงทั่วไปและผึ้งชนิดอื่น ๆ ในธรรมชาติ
คุณสมบัติพิเศษของน้ำผึ้งหลวงหิมาลัย
น้ำผึ้งจากผึ้งหลวงหิมาลัยมีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีที่แตกต่างจากน้ำผึ้งทั่วไป เป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาด แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผึ้งชนิดนี้ในประเทศไทยยังมีน้อย จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
การค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีในการศึกษาและอนุรักษ์ผึ้งชนิดนี้ รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพบนเทือกเขาสูงของไทย
นายทรงเกียรติ กล่าวอีกว่า ผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบยังเป็นผึ้งให้น้ำหวานในสกุล Apis ชนิดที่ 5 ของประเทศไทย จากเดิมที่มีรายงานอยู่เพียง 4 ชนิด คือ ผึ้งหลวง (Apis dorsata) ผึ้งมิ้ม (Apis florea) ผึ้งม้าน (Apis andreniformis) และผึ้งโพรง (Apiscerana) ซึ่งไม่รวมผึ้งพันธุ์ (Apismellifera) ที่เป็นผึ้งสายพันธุ์ต่างถิ่น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กรมอุทยาน ทดสอบความพร้อม ‘กรงลิง’ แก้ปัญหา ‘ลิงลพบุรี’ ก้าวร้าว
- เฉลยให้ ‘ผึ้ง’ กับ ‘มิ้ม’ ต่างกันยังไง บางคนเกิดมาไม่เคยได้ยิน
อ้างอิง : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช