รัฐบาลเตือน อย่าฉวยโอกาสแต๊ะอั๋งช่วงสงกรานต์ มีความผิดทางกฎหมาย
รัฐบาลเตือน อย่าฉวยโอกาสแต๊ะอั๋งช่วงสงกรานต์ มีความผิดทางกฎหมาย วอนขอให้ช่วยกันสอดส่องดูแล เล่นน้ำตามขบธรรมเนียมดั้งเดิม
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์ของไทยเป็นเทศกาลที่เน้นความสนุกสนาน และมักจะมีการสังสรรค์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงต่าง ๆ ตามมา รวมถึงปัญหาการคุกคามทางเพศ จากข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อเทศกาลสงกรานต์ 2567 พบว่า
กลุ่มที่เคยเล่นสงกรานต์ส่วนใหญ่เคยเจอสถานการณ์
– ถูกประแป้งที่ใบหน้า ร้อยละ 57.79
– ถูกฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม ร้อยละ 32.43
– เด็กกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี เคยถูกประแป้งที่ใบหน้ามากที่สุด ร้อยละ 76.77
พฤติกรรมการฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลามที่พบมากที่สุด คือ
– ถูกจับมือ/แขน/เบียดเสียด ร้อยละ 61.45
– กลุ่มตัวอย่าง รับรู้ว่าการถูกลวนลาม/คุกคามทางเพศถือว่าเป็นการกระทําความผิดตามกฎหมายอาญา ร้อยละ 92.10
สำหรับสงกรานต์ ปี 2567 สิ่งที่กังวลหรือห่วงใยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คือ
– ภัยอันตราย/อุบัติเหตุมากที่สุด ร้อยละ 85.06
– การดื่มสุรา/น้ำกระท่อมทำให้ขาดสติ แล้วเกิดการทะเลาะวิวาท ร้อยละ 40.22
– การล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 34.13
“รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ร่วมรณรงค์เล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย ช่วยกันสอดส่องดูแล และมีจิตสำนึกที่ดีในการเล่นน้ำสงกรานต์ ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์แบบขนบธรรมเนียมประเพณีไทยดั้งเดิม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมที่ดีไว้อย่างต่อเนื่อง เพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมประเพณีสงกรานต์จำนวนมาก ซึ่งเรื่องของการให้เกียรติ ความเท่าเทียม รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ช่วงเทศกาลสงกรานต์ขอให้เคารพ ให้เกียรติ ในสิทธิเนื้อตัวร่างกายความยินยอมพร้อมใจของผู้อื่น ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ และไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ” นายคารม กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เทศกาลสงกรานต์ 12-16 เม.ย. 2567 ธนาคารในห้างหยุดไหม เปิด-ปิดวันไหนบ้าง
- ตํานานวันสงกรานต์ หัวเท้ากบิลพรหม เปิดประวัติ นางสงกรานต์ทั้ง 7 มีที่มาอย่างไร ?
- 30 ไอเดียทรงผมเล่นน้ำสงกรานต์ สดใสรับซัมเมอร์ เปียกน้ำแล้วไม่โป๊ะ!