สาสม สาวปวดท้องเมนส์ ขอลาป่วย กลับถูกไล่ออก ฟ้องศาลชนะ นายจ้างถูกปรับ 1.2 ล้าน
สาวมาเลเซีย ปวดท้องเมนส์ขอลาป่วย แต่กลับโดนไล่ออก ฟ้องศาลเอาเรื่อง สุดท้ายนายจ้างซวยจ่ายค่าชดเชย 1.2 ล้าน
วันนี้ 9 เมษายน 25567 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานคดีฟ้องร้องระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง กรณีหญิงสาวชาวมาเลเซียขอลาป่วยเนื่องจากปวดประจำเดือน แต่กลับถูกนายจ้างกล่าวหาว่าโกหกและไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม เธอจึงยื่นฟ้องศาลเพื่อขอความเป็นธรรม และชนะคดีได้รับค่าชดเชยสูงถึง 180,000 ริงกิต หรือประมาณ 1.2 ล้านบาทไทย
ทนายความชาวมาเลเซียได้เผยแพร่เรื่องราวนี้บนโซเชียลมีเดีย เน้นย้ำว่าหากลูกจ้างป่วยและจำเป็นต้องใช้สิทธิลาป่วยตามกฎหมาย นายจ้างจะไม่สามารถไล่ออกได้ด้วยข้ออ้างว่าลาป่วยมากเกินไป
ส่วนรายละเอียดของคดีระบุไว้ว่า พนักงานหญิงได้ยื่นใบลาป่วยเนื่องจากมีประจำเดือนและไม่สบาย แต่ถูกนายจ้างไล่ออกเนื่องจากถูกหาว่าโกหก เธอจึงยื่นฟ้องต่อศาล โดยหมัดเด็ดคือสามารถนำหลักฐานมาพิสูจน์ว่าใบลาป่วยของเธอเป็นของจริง ส่งผลให้ศาลตัดสินว่านายจ้างกระทำผิด เลิกจ้างไม่เป็นธรรม เธอจึงได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 180,000 ริงกิต
ทนายความยังเสริมว่าการปลอมแปลงใบรับรองแพทย์ถือเป็นเรื่องร้ายแรงในมาเลเซีย หากลูกจ้างทำการปลอมใบรับรองแพทย์ถือเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีและปรับ
ปวดท้องประจำเดือนมีจริง ไม่ใช่ป่วยหลอกๆ
ผู้ชายอาจไม่เข้าใจ อาการปวดท้องประจำเดือนนั้นมีจริง มักเกิดขึ้นก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน โดยมีอาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย บางคนอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หลัง สะโพก หรือต้นขา อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เวียนหัว ท้องเสีย หรือท้องผูก
สาเหตุของการปวดท้องประจำเดือนเมนส์ เกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกเพื่อขับเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน สารที่ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) มีบทบาทสำคัญในการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก
ความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยจนไม่รบกวนกิจวัตรประจำวัน แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงจนส่งผลต่อการทำงาน การเรียน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน
กฎหมายไทย ลูกจ้างลาป่วยเป็นเหตุให้เลิกจ้างได้ไหม
ถ้าอ้างอิงเทียบกับเคสสาวมาเลเซียข้างบน การแค่ลาป่วยเพราะปวดท้องเมนส์ ไม่สามารถอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายชดเชยได้อย่างแน่นอน เพราะถือว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
แต่ก็มีบางกรกณีที่ศาลฎีกาเคยพิพากษาไว้ว่านายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างที่ลาป่วยบ่อยได้ เพราะถือว่าหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน ถือว่าเลิกจ้างเป็นธรรม
เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 3634/2525 ลูกจ้างลาป่วยไปรักษาตัวโรคมะเร็งปีละ 60 หรือ คำพิพากษาฎีกาที่ 724/2549 ลูกจ้างลาป่วยทั้งเดินไม่สามารถมาทำงานได้ ทำให้งานเสียหาย เป็นเหตุให้เลิกจ้างได้
อย่างไรก็ดีแต่ละคดีมีรายละเอียดของเหตุการณ์ปลีกย่อยเฉพาะตัว หากลูกจ้างรู้สึกว่าตัวเองถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้ไปติดต่อปรึกษากรมแรงงานก่อนเป็นอันดับแรก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รัฐบาล ย้ำชัด ลูกจ้างลาป่วยไม่ถึง 3 วัน ไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์
- บริษัทดัง เลิกจ้างพนักงาน กว่า 1 พันชีวิตเคว้ง เซ่นพิษโควิด ยืนยันจ่ายชดเชย
- ประกาศพิทักษ์ทรัพย์ อดีตนักเทนนิสทีมชาติไทย หลังถูกฟ้องล้มละลาย