ข่าวข่าวต่างประเทศ

พยาบาลเฉลยเอง ก่อนตายรู้สึกยังไง ทรมานไหม ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

จูลี่ แมคแฟดเดน พยาบาลวิชาชีพวัย 41 ปีจากลอสแองเจลิส ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีผู้ติดตามนับล้านบนสื่อโซเชียลจากการให้ข้อมูลสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการ ‘ความตายและการจากไป’

เมื่อเร็วๆ นี้ เธอได้เปิดใจกับผู้ติดตามบน YouTube โดยบอกว่าตัวเธอเองไม่กลัวตาย และอธิบายว่าทำไมคนอื่นๆ จึงไม่ควรกลัวเช่นกัน จูลี่บอกว่าร่างกายของเรามีกลไกในตัวที่ช่วย ‘ปิดระบบ’ เมื่อถึงเวลาต้องจากไป เพื่อให้การเสียชีวิตเป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ และ ‘สงบ’

Advertisements

“ดิฉันไม่กลัวความตายค่ะ และนี่คือหลักการทางวิทยาศาสตร์เบื้องหลังความเชื่อนี้ค่ะ ร่างกายมนุษย์ถูกสร้างมาให้ตายโดยธรรมชาติ ในฐานะพยาบาลดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ดิฉันได้เรียนรู้มามากมาย ร่างกายของเราเริ่มดับลงอย่างช้าๆ ในช่วงหกเดือนสุดท้ายของชีวิต”

พยาบาลจูลี่เผยอีกว่าผู้ที่ใกล้จะเสียชีวิตจะเริ่ม “กินน้อยลง ดื่มน้อยลง และนอนนานขึ้น”

“ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะระดับแคลเซียมในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยง่วงมากขึ้น สมองของเรามีกลไกในตัวเพื่อทำให้เรารู้สึกหิวและกระหาย เมื่อร่างกายตระหนักว่ากำลังใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของชีวิต กระบวนการเหล่านี้จะค่อยๆ ปิดไป ทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกไม่หิวหรือกระหาย ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการปิดตัวลงของร่างกายค่อยๆ ดำเนินไปค่ะ”

จูดี้อธิบายการบวนการตายว่าไม่น่ากลัว ไม่เจ็บปวด

ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าแม้ความตายอาจดูน่ากลัวเมื่อต้องเจอกับตัวบุคคลอื่น แต่สำหรับคนที่กำลังจะจากไปนั้น มันเป็นความรู้สึกที่ ‘เป็นธรรมชาติ’ เธอย้ำว่าแม้ว่าบางโรคอาจสร้างความไม่สบายตัวขณะที่กำลังจะเสียชีวิต แต่ตัวกระบวนการตายนั้นไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด

Advertisements

“บางครั้ง โรคที่บุคคลนั้นประสบอยู่อาจก่อให้เกิดความทรมานในช่วงที่กำลังจะเสียชีวิต แต่กระบวนการที่ร่างกายใช้เพื่อดับชีวิตลงนั้น เป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้นค่ะ” จูลี่กล่าวเสริม

“ในฐานะพยาบาล มีหลายครั้งที่ดิฉันได้เห็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายค่อย ๆ จากโลกนี้ไปโดยไม่จำเป็นต้องได้รับยาเพื่อบรรเทาใดๆ เลย เพราะโรคที่พวกเขาเผชิญอยู่ไม่ได้สร้างอาการใดเลย ไม่ปวด ไม่หายใจติดขัด พวกเขาแค่เหนื่อยมากขึ้น ทานอาหารน้อยลง และสุดท้ายก็หมดสติไปอย่างสงบ”

จูลี่อธิบายต่อว่า ความตายอาจให้ความรู้สึก ‘อบอุ่นใจ’ ในบางแง่มุม เพราะในวาระสุดท้าย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟินออกมา

ภาพพรอตเทรตของจูดี้
ภาพจาก IG: hospicenuresjulie

“ร่างกายจะค่อยๆ เข้าสู่ภาวะคีโตสิส (ketosis) ซึ่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟินจะหลั่งออกมา ฮอร์โมนกลุ่มนี้จะช่วยลดความรู้สึกเจ็บปวดลง สร้างความรู้สึกสบายและสงบให้กับผู้ป่วย มีหลายเหตุผลที่ทำให้ดิฉันไม่กลัวความตายค่ะ ทั้งประสบการณ์ทางจิตวิญญาณในฐานะพยาบาล รวมถึงกลไกการทำงานของร่างกายที่เข้ามาช่วยในวาระสุดท้ายนี้”

“ร่างกายของเราถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ตายโดยธรรมชาติค่ะ ยิ่งเรารบกวนธรรมชาติน้อยเท่าไหร่ เราก็จะจากไปอย่างสงบมากขึ้นเท่านั้น”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จูลี่ได้เปิดใจพูดคุยถึงความตายและสิ่งที่เธอประสบพบ เธอเคยให้ข้อมูลเรื่อง ‘ภาพมายาก่อนตาย’ และการสนทนาโต้ตอบอย่างมีเหตุผลเกี่ยวกับประสบการณ์เหล่านี้ด้วย

นอกจากนี้ ภายในปีนี้ จูลี่จะมีผลงานหนังสือแนวให้ความรู้และกำลังใจเกี่ยวกับการเดินทางสู่จุดสิ้นสุดของชีวิตที่ชื่อว่า “Nothing to Fear” ออกวางจำหน่ายด้วยครับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button